10 กองทุน “SSF-RMF” ผลตอบแทนเด่นฝ่า “โควิด”

การลงทุน-กองทุน-เงิน

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 “ประชาชาติธุรกิจ” พาส่องผลตอบแทนกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่เป็นกองทุนลดหย่อนภาษีน้องใหม่ที่มาแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีผลตอบแทนน่าสนใจ

โดยข้อมูลของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) พบว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (ณ 30 พ.ย. 63) กองทุน SSF ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 43.6% เป็นกองทุนเปิดวรรณ อัลติเมท โกลบอล โกรว์ธชนิดเพื่อการออม แบบไม่จ่ายเงินปันผล (ONE-UGG-ASSF) จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด

ขณะที่กองทุน RMF ที่ให้ผลตอบแทนในช่วงเวลาเดียวกันสูงสุด 61.6% เป็นกองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลเทคโนโลยีอิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFGTECHRMF) ของ บลจ.กรุงศรี จำกัด (ดูตาราง)

“ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า กองทุน SSF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 2.2 พันล้านบาท (ไม่รวม 2 กองทุนรวมจาก บลจ.บัวหลวง ที่มีมูลค่าการลงทุนแบบพิเศษ หรือ SSFX) มีการเติบโตที่ค่อนข้างเร็วในช่วงเดือน ต.ค.และ พ.ย.ที่ผ่านมา ที่มีมูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิ 373 ล้านบาทและ 769 ล้านบาท ในเดือน ต.ค.และ พ.ย.ตามลำดับ

ขณะที่กองทุน RMF มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิช่วง 11 เดือนที่ราว 9 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเม็ดเงินที่เริ่มทยอยเข้าลงทุนในช่วงเดือน ก.ค.เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินไหลเข้ายังไม่ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเติบโตจากสิ้นปี 2562 โดยอยู่ที่ระดับ 3 แสนล้านบาท (ลดลง 0.1% จากสิ้นปี 2562) ซึ่งเกิดจากเม็ดเงินลงทุนเดิมอยู่ในกลุ่มที่ผลตอบแทนไม่ดีนัก

ทั้งนี้ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิยังถือว่ามีมูลค่าสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีถึงกลางปี 2563 จากสภาพตลาดที่ไม่ปกติ ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์ลดลงไปบ้าง โดยในปีนี้มูลค่ากองทุน RMF ลดลงไปต่ำสุดในเดือน มี.ค.ที่ 2.6 แสนล้านบาทหรือลดลง 13.6% จากปี 2562

“ภาพรวมการลงทุนประหยัดภาษีในปีนี้ อาจเทียบไม่ได้กับ LTF จากรูปแบบกองทุน SSF ที่นักลงทุนอาจยังไม่คุ้นเคยกับระยะเวลาการลงทุนที่นานขึ้นมูลค่าการลงทุนที่นับรวมกับกองทุนประเภทอื่นที่อาจทำให้นักลงทุนบางกลุ่มลงทุนได้น้อยลง รวมทั้งเป็นปีที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา แต่สำหรับกองทุน RMF ยังถือว่ามีเม็ดเงินไหลเข้าในระดับปกติจากเงื่อนไขการลงทุนต่อเนื่อง”

“ชญานี” กล่าวด้วยว่า ในส่วนของภาพรวมการลงทุน พบว่า เป็นการลงทุนในกลุ่มหุ้นต่างประเทศมากขึ้นจากสภาพตลาดหุ้นต่างประเทศมีผลตอบแทนที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่อประหยัดภาษีนั้น ควรคำนึงถึงแผนการลงทุนเป็นหลัก เนื่องจากมีเงื่อนไขการลงทุนระยะยาว

ดังนั้น การวางแผนการลงทุนอย่างเป็นระบบโดยพิจารณาความเสี่ยง ประเภททรัพย์สินที่ลงทุน รวมถึงสภาพคล่องส่วนบุคคลเพื่อคำนวณมูลค่าการลงทุนที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การลงทุนบรรลุเป้าหมายระยะยาวได้

ขณะที่ “ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร” รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน บลจ.บางกอกแคปปิตอล (BCAP) กล่าวว่า ยอมรับว่าในปีนี้เม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในกองทุนรวมลดหย่อนภาษีไม่ค่อยคึกคัก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดือน ธ.ค.ที่ปกติจะเห็นเม็ดเงินลงทุนทยอยไหลเข้าต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี โดยคาดว่าเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการเปิดให้ซื้อกองทุน SSFX ไปในช่วงครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ดี บลจ.บีแคป สามารถรักษาผลตอบแทนให้แก่ลูกค้าได้ประมาณ 6-7% (ผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงสุดและมีสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศสูง) เนื่องจากมีกลยุทธ์กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์หลากหลายประเภททั่วโลกได้แก่ ตราสารทุนมากกว่า 2,000 บริษัทในกว่า 40 ประเทศ พันธบัตรรัฐบาลกว่า 80 ประเทศ หุ้นกู้บริษัทเอกชนทั่วโลกมากกว่า 1,500 บริษัท และกองรีท (REITs) มากกว่า 300 กอง

“เราแนะนำการลงทุนต่างประเทศมากกว่าในประเทศ เนื่องจากมองว่าระยะสั้นตลาดหุ้นไทยยังยากที่จะฟื้นตัวกลับมา เนื่องจากมีการพึ่งพาการท่องเที่ยวและส่งออกสูง ขณะที่หุ้นต่างประเทศชื่นชอบหุ้นจีนมากที่สุด เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว และมีบริษัทที่อยู่ในเศรษฐกิจใหม่ (new economy) ในตลาดหุ้น”

ทั้งนี้ บลจ.บีแคป มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ที่ 51,600 ล้านบาท เติบโต 28% เมื่อเทียบกับ AUM ณ สิ้นปี 2562 ที่ 40,186 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตสวนทางอุตสาหกรรมที่มูลค่าปรับลงประมาณ 10% ขณะที่ในปี 2564 ตั้งเป้า AUM เติบโต 60,000 ล้านบาท

ท่ามกลางปีแห่งวิกฤต คงต้องลุ้นกันในช่วงที่เหลือของปีว่า จะมีเม็ดเงินได้เข้ากองทุน SSF และ RMF ได้อีกมากน้อยแค่ไหน เพราะนักลงทุนจำนวนไม่น้อยก็เลือกจะซื้อกองทุนประเภทนี้ในช่วงสิ้นปี