กองทุนLTF/RMFยอดฝืด สะดุดฐานภาษีใหม่-ถือยาว7ปี

กองทุนแฝด “LTF/RMF” ยอดฝืด เจอผลกระทบฐานภาษีใหม่+เงื่อนไขต้องถือยาว 7 ปี แถมดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นสูง นักลงทุนเทขายทำกำไร เผย 10 เดือนเงินไหลออกจากกองทุนแฝดเกือบ 2 หมื่นล้าน ชี้เม็ดเงินไหลเข้าสุทธิน้อยที่สุดในรอบ 6 ปี “อภิศักดิ์” สั่งสรรพากรแก้กฎหมายเก็บภาษีลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ 15% เพื่อให้เท่ากับลงทุนตราสารหนี้โดยตรง คาดมีรายได้เข้ารัฐเพิ่ม 3 พันล้านบาท สรรพากรเปิดรับฟังความเห็นแก้กฎหมาย 2-23 พ.ย.นี้

กองแฝดไหลออก 2 หมื่น ล.

นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุน บริษัท มอร์นิ่งสตาร์รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงแนวโน้มการลงทุนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือที่เรียกว่ากองทุนแฝดว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ เงินลงทุนในกองทุนทั้ง 2 ประเภทอาจไม่คึกคักหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะปกติเข้าไตรมาสสุดท้ายจะเริ่มเห็นเม็ดเงินไหลเข้าทั้ง 2 กองทุนแล้ว แต่ปีนี้พบว่า 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค. 2560) พบว่ากองทุน LTF ยังมีเงินไหลออกสุทธิสูงถึง 19,046 ล้านบาท เพราะตลอดทั้งปีที่ผ่านมามีเงินไหลออกจากกองทุนเพื่อขายทำกำไรอยู่ตลอด เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเงินไหลออกสุทธิ 4,700 ล้านบาท

ส่วนกองทุน RMF ปีนี้มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิเพียง 1,271 ล้านบาท ลดลงมากกว่า 1 เท่า หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิ 2,689 ล้านบาท ซึ่งถือว่าช่วง 10 เดือนแรกปีนี้กองทุนแฝดมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554

นายกิตติคุณกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของกองทุน LTF/RMF ที่ชะลอตัวนั้นเป็นผลจากที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นสูงในช่วงไตรมาส 3 ส่งผลให้ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ขายทำกำไรกันออกมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความไม่มั่นใจที่จะกลับเข้าไปลงทุนในช่วงตลาดขาขึ้น ทั้งยังมีผลกระทบจากอัตราภาษีเงินได้บุคคลใหม่ที่เริ่มใช้ในปีภาษีนี้ รวมถึงมาตรการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ที่อาจจะออกมาเพิ่มเติมในปลายปีที่จะมีผลกระทบต่อการเข้าลงทุนในกองทุนแฝด

ฐานภาษีใหม่ทุบ LTF/RMF

“อัตราภาษีเงินได้ใหม่ทำให้ผู้มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทไม่ต้องเสียภาษี จากเดิมที่ผู้มีเงินได้เกิน 2 หมื่นบาทเริ่มเสียภาษี ทำให้กลุ่มนี้ไม่ต้องหาตัวเลือกเพื่อหักลดหย่อนภาษี ทำให้เม็ดเงินที่จะซื้อกองทุน LTF/RMF หดหาย เพราะต้องยอมรับว่าเป้าหมายแรกของการซื้อกองทุน คือ การนำมาลดหย่อนภาษี เมื่อไม่ต้องเสียภาษีแล้ว ทำให้กระทบเม็ดเงินรวมได้”

อย่างไรก็ตาม คาดว่าไตรมาส 4/60 จะมีเงินไหลเข้ากองทุน LTF อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และเข้ากองทุน RMF ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมูลค่าสุทธิทั้งปีของทั้ง 2 กองทุนน่าจะสู้ปีที่ผ่านมาไม่ได้ เพราะ 10 เดือนแรกยังไหลออกสุทธิสูงมาก ขณะที่ปี 2559 ที่ผ่านมา กองทุน LTF มีเงินไหลเข้าสุทธิ 21,866 ล้านบาท และกองทุน RMF เงินไหลเข้าสุทธิ 17,195 ล้านบาท

ทั้งนี้ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนแฝด ณ สิ้นไตรมาส 3/60 พบว่ากองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 345,260 ล้านบาท และ RMF อยู่ที่ 225,927 ล้านบาท โดยคาดว่าภาพรวมทรัพย์สินปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ LTF อยู่ที่ 337,392.31 ล้านบาท และ RMF อยู่ที่ 211,604.10 ล้านบาท เนื่องจากตลาดหุ้นไทยปีนี้เติบโตต่อเนื่อง

เปิด 3 กองทุนผลตอบแทนสูงสุด

นายกิตติคุณกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกองทุน LTF ที่สร้างผลตอบแทนสูงสุด 3 กองทุน ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (2556-2560) ได้แก่ กองทุนเปิด บรรษัทภิบาล หุ้นระยะยาว (CG-LTF) 11.77% กองทุนเปิดภัทรหุ้นระยะยาวปันผล (PHATRA LTFD) 10.53% กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นระยะยาวแอ็กทีฟ SET50 ปันผล (KFLTFA50-D) 10.50% ด้านกองทุน RMF ประเภทตราสารทุนที่สร้างผลตอบแทนสูงสุด 3 กองทุน ช่วง 5 ปีย้อนหลัง ได้แก่ กองทุนเปิดภัทร หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (PHATRA EQRMF) 10.44% กองทุนเปิดบัวหลวงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเลี้ยงชีพ (IN-RMF) 10.42% และกองทุนเปิดกรุงศรีอิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFEQRMF) 9.99%

ด้านนายสาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์เงินไหลออกสุทธิจากกองทุนแฝดในช่วง 10 เดือนแรก แต่เชื่อว่าช่วงปลายปีจะยังเห็นเงินไหลเข้าซื้อกองทุน LTF/RMF เพราะนักลงทุนยังคงมั่นใจในการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนไทย โดยเฉพาะหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดี แต่เม็ดเงินอาจไม่มากไปกว่าปีก่อนหรืออาจจะลดลง เนื่องจากเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีใหม่ที่ประกาศใช้ในปีนี้ กำหนดต้องถือกองทุนเป็นระยะเวลา 7 ปีปฏิทิน ทำให้ลดความน่าสนใจไปสำหรับผู้ลงทุนบางกลุ่ม

โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในฐานภาษีไม่สูง เมื่อคำนวณประโยชน์ทางภาษีเทียบกับต้องถูกล็อก (ห้ามขายออก) เป็นระยะเวลา 5 ปี หรือ 7 ปีปฏิทิน อาจจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยในเรื่องของระดับดัชนีหุ้นไทยที่ซื้อขายเหนือระดับ 1,700 จุด ส่งผลให้ราคากองทุนขยับขึ้นสูง ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มลังเลที่จะเข้าลงทุน

ขณะที่นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด เชื่อว่า การลงทุนในกองทุน LTF/RMF จะคึกคักในช่วงเดือน ธ.ค.เหมือนทุกปี เนื่องจากขณะนี้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง และผลประกอบการบริษัทในงวดไตรมาส 3/2560 ยังเป็นบวกหลายบริษัท ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจการลงทุน โดยในส่วนของบริษัทคาดว่ากองทุนที่จะได้รับการตอบรับดีในปีนี้ คือกองทุนหุ้น Low Beta หรือการลงทุนในหุ้นผันผวนต่ำกว่าตลาด

ลุ้นยอด 2 เดือนสุดท้าย

นายอุดมการ อุดมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี น่าจะเห็นแรงซื้อกองทุน RMF/LTF เข้ามามากขึ้น เนื่องจากเป็นฤดูกาลที่นักลงทุนต้องซื้อกองทุนเพื่อเตรียมวางแผนด้านภาษี แต่ไม่น่าจะคักคึกมาก หากเทียบกับอดีต เนื่องจากเงื่อนไขใหม่ที่กำหนดให้ถือครองกองทุนเป็น 5 ปี ทำให้ผู้ลงทุนลังเลที่จะเข้าลงทุน

ทั้งนี้ ประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 เดือนที่เหลือนี้ คาดว่าดัชนีน่าจะเคลื่อนไหวแกว่งตัวต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี และสามารถยืนเหลือ 1,700 จุดณ สิ้นปี 2560

“ปลายปีจะมีแรงขายทำกำไร และอาจมีแรงกดดันจากที่สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยใน ธ.ค. ก็จะทำให้เงินไหลกลับไปสหรัฐเร็วขึ้น แต่ก็จะมีแรงซื้อกองทุน RMF/LTF เข้ามาหนุนไม่ให้ดัชนีลดลงมาก”

แก้ กม.เก็บภาษีกองทุนตราสาร

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากร เพื่อปรับปรุงการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ระหว่าง 2-23 พ.ย. 2560 ตามที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้สั่งการ เนื่องจากต้องการสร้างความเท่าเทียมในการจัดเก็บภาษีเงินได้ระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม และการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง

“ปัจจุบันบุคคลธรรมดา ถ้าลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงจะเสียภาษี 15% แต่ถ้าลงผ่านกองทุนจะเสียแค่ 10% ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทาง รมว.คลังจึงต้องการแก้ไขให้เท่าเทียมกัน โดยจะเก็บที่ 15% เหมือนกัน โดยกำหนดให้กองทุนเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อกองทุนรวมได้รับดอกเบี้ยและมีผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตราสาร” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ แหล่งข่าวกล่าวว่า คาดว่าจะทำให้รัฐเก็บรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มขึ้นราว 3,000 ล้านบาท โดยกฎหมายดังกล่าวจะไม่มีการบังคับใช้ย้อนหลังกับการลงทุนในที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แต่อย่างใด