คลังอัดฉีด 4 แสนล้านฟื้นเศรษฐกิจ ครึ่งปีหลังปูพรม 4 มาตรการดันจีดีพี 1%

แรงงาน-เงิน

คลังอัดแพ็กเกจใหญ่ฟื้นเศรษฐกิจ เม็ดเงินลงระบบ 4 แสนล้านบาท กระตุ้นจีดีพี 1% ชง ครม. 11 พ.ค. 64 เพิ่มเงิน “เราชนะ-ม33เรารักกัน” วงเงิน 2 พันบาท เยียวผลกระทบโควิด ครึ่งปีหลังเตรียม 4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ใช้จ่าย 6 หมื่นบาทรับ e-Voucher สูงสุด 7 พันบาทต่อคน

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด-19 และกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รวมเป็นวงเงินกว่า 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถดูแลประชาชนได้ครอบคลุมกว่า 51 ล้านคน

พร้อมกันนี้จะส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลลงสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 4 แสนล้านบาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้กว่า 1% ของจีพีดี ดังนั้นจึงคาดว่าในปี 2564 นี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากกว่า 2.3% ต่อจีดีพี ซึ่งในวันที่ 17 พ.ค.นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะมีการแถลงปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้ง

สำหรับในระยะแรก กระทรวงการคลังจะเสนอ ครม.ในวันที่ 11 พ.ค.นี้ เพื่อเพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ ซึ่งจะเป็นการบรรเทาภาระประชาชนในช่วงโควิดอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท ระยะเวลา 2 สัปดาห์ รวมเป็นวงเงิน 2,000 บาท โดยจะโอนเงินเข้าให้ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ และใช้จ่ายผ่านบัตรประชาชน ในวันที่ 21 และ 28 พ.ค. 64 ส่วนกลุ่มที่มีแอปเป๋าตัง ในวันที่ 20 และ 27 พ.ค.นี้ รวมเป็นเงินงบประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท

ขณะที่โครงการ ม33เรารักกัน กระทรวงแรงงานจะเสนอ ครม.อนุมัติเพิ่มวงเงิน 2,000 บาท ในวันที่ 11 พ.ค.นี้เช่นกัน โดยจะเริ่มจ่ายเงินในวันที่ 24 และ 31 พ.ค.นี้ ใช้งบประมาณรวมกว่า 1.85 หมื่นล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการดังกล่าว สามารถใช้จ่ายได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 64

“ในไตรมาส 2 จะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านมาตรการเราชนะและ ม33เรารักกันกว่า 2.4 แสนล้านบาท และจะมีเม็ดเงินเพิ่มเข้ามาอีก 8.5 หมื่นล้านบาท จากการเพิ่มวงเงิน 2,000 บาท ให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนสาเหตุที่ยังไม่ออกโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ออกมากระตุ้นการใช้จ่ายในเดือน พ.ค. 64 เลยนั้น เป็นเพราะว่าไม่อยากให้ประชาชนเดินทางออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดโควิด-19”

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังก็ได้เตรียมมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง หรือ ก.ค.-ธ.ค. 64 โดยเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังจะพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อีกครั้ง หากสถานการณ์โควิดดีขึ้น ก็จะเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายต่อไป ผ่าน 4 มาตรการ

ได้แก่ 1.การเติมเงินให้ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.65 ล้านคน เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน 2.เติมเงินให้กลุ่มเปราะบาง ที่เป็นผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งเคยเข้าร่วมโครงการเราชนะ รวมทั้งกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุด้วย จำนวน 2.5 ล้านคน เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน

3.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เป็นการกระตุ้นกำลังซื้อผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยด้วย โดยจะเป็นการใช้จ่ายแบบ copay รัฐช่วยจ่ายวันละ 150 บาท ตลอดระยะเวลาโครงการรวมเป็นเงิน 3,000 บาท ซึ่งจะแบ่งเป็นช่วงแรก ไตรมาส 3 ของปีนี้ จะทยอยจ่าย 1,500 บาท และไตรมาส 4 อีก 1,500 บาท ครอบคลุมประชาชน 31 ล้านคน โดยที่ผ่านมามีประชาชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 15 ล้านคน สำหรับโครงการเฟส 3 นั้น จะเปิดให้เข้ามาลงทะเบียนรับสิทธิอีก 16 ล้านคน

และ 4.มาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้ที่มีกำลังซื้อ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจะมีการเปิดลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com หลังจากที่ ครม.อนุมัติโครงการ กลุ่มเป้าหมาย 4 ล้านคน

โดยมีหลักการรัฐสนับสนุน e-Voucher ค่าสินค้า อาหาร ค่าเครื่องดื่ม และค่าบริการ (ไม่รวมลอตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับยานพาหนะ ค่าบริการนำเที่ยว ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน) ในอัตรา 10-15% สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยยอดใช้จ่ายเพื่อคำนวณ e-Voucher ไม่เกิน 5,000 บาทต่อวันต่อคน แบ่งเป็น 2 ต่อ ดังนี้

ต่อที่ 1 ใช้จ่าย 1-40,000 บาทแรก จะรับ e-Voucher 10% ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน

ต่อที่ 2 ใช้จ่าย 40,001-60,000 บาท รับ e-Voucher 15% ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน

ทั้งนี้ วิธีการใช้จ่ายผ่านโครงการ จะต้องนำเงินเข้ามาในวอลเลตบนแอปเป๋าตัง โดยใช้จ่ายในการซื้อสินค้า/บริการ ที่จะได้รับ e-Voucher ช่วง ก.ค.-ก.ย. จากนั้นจะได้รับ e-Voucher คืนทุกต้นเดือนถัดไปหลังมีการใช้จ่าย หรือช่วง ส.ค.-ธ.ค. 64 โดยวงเงินสิทธิที่ได้รับนั้น ก็จะเข้ามาในวอลเลตบนแอปเป๋าตังเช่นกัน ซึ่งไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้