หุ้นไฟแนนซ์ กอดคอร่วง รับข่าว “ประยุทธ์” ขอ ธปท.ทบทวนเพดานดอกเบี้ยเงินกู้

“หุ้นการเงิน” กอดคอร่วง รับข่าว “นายกฯ ประยุทธ์” เตรียมขอ ธปท.ทบทวนเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ ลดภาระลูกหนี้ 3 แบงก์ใหญ่ “KBANK-SCB-BBL” ร่วงนำตลาด “บล.กสิกรฯ” ชี้เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งใน Policy Risk จับตาท่าทีแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย อาจให้ลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF

วันที่ 15 มิถุนายน 2564 นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดัชนีหลักทรัพย์ไทย (SET Index) วันนี้ยืนอยู่ที่ 1,622.31 จุดปรับตัวลดลง 10.75 จุด เปลี่ยนแปลง 0.66% มูลค่าการซื้อขายรวม 90,036.99 ล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มการเงินถ่วงตลาด โดยเฉพาะราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) ซึ่งพบว่า 3 แบงก์ใหญ่ร่วงหนักสุด อาทิ KBANK ลดลง 3.54%, SCB ลดลง 2.84%, BBL ลดลง 1.63% ส่วนหุ้นน็อนแบงก์อย่าง TIDLOR ปรับตัวลดลง 2.78%

โดยราคาหุ้นปรับตัวลงตอบรับข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนทั้งระบบ รัฐบาลจะกำหนดมาตรการต่าง ๆ ออกมา ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะต่อไป โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้นจะดำเนินการให้เกิดขึ้นภายใน 6 เดือน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยประชาชน

ทั้งในส่วนสินเชื่อรายย่อย พิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ โดยจะมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการ รวมถึงสหกรณ์ ปรับรูปแบบการชำระหนี้ คุ้มครองความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์

โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ย และการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน

อย่างไรก็ตามต้องรอดูท่าที ธปท.ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งฝั่งลีสซิ่งปัจจุบันพึ่งปรับดอกเบี้ยลงมารอบหนึ่ง และธนาคารออมสินปรับดอกเบี้ยลงมาแข่งขันในตลาดไปแล้วด้วย ถ้าจะให้ปรับดอกเบี้ยลงมามากกว่านี้คงต้องรอดูว่า ธปท.จะมีคำสั่งออกมาคล้าย ๆ กับที่นายกฯ ให้ดำเนินการหรือไม่ ซึ่งนักวิเคราะห์ยังไม่สามารถฟันธงได้ แต่เหตุการณ์นี้ถือเป็นหนึ่งใน Policy Risk


ซึ่งระหว่างทางสิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ถ้ามีการลดดอกเบี้ย อาจจะมีการให้ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) หรือเปล่า ซึ่งปัจจุบัน ธปท.ยังสามารถที่จะลดเงินนำส่งให้แบงก์พาณิชย์ได้อีก