ย้อนรอย เพิ่มทุน เอ็กซิมแบงก์ โรดแมปสู่องค์กรชั้นนำระดับโลก

EXIM BANK

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK เพิ่งได้รับการอนุมัติเพิ่มทุนจำนวน 4,198 ล้านบาท จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นการเพิ่มทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีนับตั้งแต่การเพิ่มทุนล่าสุดเมื่อปี 2552

“ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร” กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK บอกว่า การเพิ่มทุนครั้งนี้เป็นการอัดฉีดเงินให้ EXIM BANK เร่งเครื่อง “ซ่อม สร้าง เสริม” สนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับให้กลับมาทำการค้าการลงทุนได้อย่างเข้มแข็งอีกครั้ง

รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัว “คาดว่ายอดคงค้างสินเชื่อจะเติบโตเฉลี่ย 11% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า ไปแตะระดับ 212,730 ล้านบาทในปี 2568 จากจำนวนยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2564 อยู่ที่ 140,600 ล้านบาท” ดร.รักษ์กล่าว

แก้ปมข้อจำกัด “เงินกองทุน”

โดยที่มาที่ไปของความจำเป็นต้องเพิ่มทุนนั้น กระทรวงการคลังได้รายงานต่อที่ประชุม ครม.ว่า เนื่องจากภายใต้แผนแม่บทปี 2570 EXIM BANK ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจชั้นนำระดับโลกที่อยู่เคียงข้างผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย” (Global Export Credit Agency : Global ECA)

ซึ่ง EXIM BANK วางบทบาทในการนำพาผู้ประกอบการไทย รวมถึงเอสเอ็มอีไปสู่ตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ประเทศอื่น ๆ ที่เป็นตลาด new frontiers ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เช่น อินเดีย/เอเชียใต้ แอฟริกาตะวันออก เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจสนับสนุนการลงทุนภายในประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

อย่างไรก็ดี EXIM BANK มีเงินกองทุนขนาดเล็ก ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อโครงการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ส่วนหนึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากต้องเผชิญกับข้อจำกัดในประเทศของนโยบายการจำกัดความเสี่ยงของการกระจุกตัวด้านเครดิต (Single LendingLimit : SLL) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อที่เกิน SLL จะต้องขออนุญาตผ่อนผันจาก ธปท.เป็นกรณีเพื่อดำเนินการ และจะต้องถูกหักเงินกองทุนส่วนเพิ่ม (Capital Add-on) ทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ลดลง

ทั้งนี้ EXIM BANK ประมาณการว่าหากไม่ได้รับการเพิ่มทุนจะส่งผลให้ระดับ BIS Ratio ลดลงเหลือ 13.03% ในปี 2564 ลดลงจากปี 2562 อยู่ที่ 15.42% ซึ่งเข้าใกล้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ของธนาคารที่ 12.50% และส่งผลกระทบต่อการขยายการดำเนินงานของEXIM BANK ในอนาคต

รุกขยายสินเชื่อ 4 ตลาด

ทั้งนี้ EXIM BANK มีแผนขยายการดำเนินงานผ่านการให้บริการสินเชื่อและการประกันการส่งออก ซึ่งจะทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อของธนาคารในปี 2564 มีจำนวน 138,940 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 212,730 ล้านบาทในปี 2568 ตามแผนธุรกิจปี 2564 และแผนวิสาหกิจ 5 ปี (2564-2568) และมียอดคงค้างให้สินเชื่อในปี 2570 จำนวน 281,260 ล้านบาท

ตามแผนแม่บทปี 2570 ซึ่งจะขยายบทบาทของ EXIM BANK ในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยการให้สินเชื่อ 4 ตลาดหลัก ได้แก่ 1.ตลาดในประเทศ ทั้งสินเชื่อเพื่อการส่งออก และสินเชื่อเพื่อการพัฒนาประเทศ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (S-curve) เป็นต้น

2.ตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นต้น 3.ตลาด CLMV และ 4.ตลาด new frontiers เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย มัลดีฟส์ เป็นต้น

หนุนเอสเอ็มอี-จ้างงาน

ทั้งนี้ การเพิ่มทุนทำให้ EXIM BANK มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจากเดิม 12,800 ล้านบาท เป็น 16,998 ล้านบาท ส่งผลให้สามารถขยายธุรกิจสนับสนุนผู้ประกอบการไทยได้เพิ่มขึ้น

โดยจะทำให้ธนาคารขยายธุรกิจได้ตามแผนวิสาหกิจ 5 ปีในปี 2564-2568 โดยประมาณการยอดคงค้างสินเชื่อเพิ่มขึ้น68.50% เป็นจำนวน 212,730 ล้านบาท สนับสนุนการส่งออกเพิ่มขึ้น 39% เป็นจำนวน 577,957 ล้านบาท

สนับสนุนการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น 90.10% เป็นจำนวน 206,490 ล้านบาท และสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 67.90% เป็นจำนวน 140,580 ล้านบาท

โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มการสนับสนุนการจ้างงานเพิ่มขึ้น 42.80% เป็นจำนวน 570,450 ราย และเพิ่มการสนับสนุนผู้ส่งออกเอสเอ็มอี 69.50% เป็นจำนวน 5,928 ราย

ธปท.แนะโฟกัสช่วยเอสเอ็มอี

อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม โดย “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.ระบุว่า ธปท.ไม่ขัดข้องในหลักการของการใช้เงินของกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

เพื่อการเพิ่มทุน EXIM BANK จำนวน 4,198 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ภายหลังการเพิ่มทุน EXIM BANK ควรสนับสนุนเอสเอ็มอีเป็นหลัก และเห็นควรให้กำหนดปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานจากการเพิ่มทุนของ EXIM BANK ต่อไป

สุดท้ายแล้ว การตั้งเป้าหมายให้ EXIM BANK ก้าวไปสู่การเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจชั้นนำระดับโลกจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และจะมีบทบาทในการช่วยผู้ส่งออกโดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้เพียงใด หลังการเพิ่มทุนครั้งนี้ไปแล้วคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามวัดผลกันต่อไป