หุ้นไทยแนวโน้มขาขึ้นแต่อัพไซต์จำกัด หลังปรับตัว +120 จุดใน 15 วัน

“โกลเบล็ก” แนะช็อป 9 หุ้นเด่นกลุ่มอสังหาฯรับคลายกฏ LTV

ตลาดหุ้นไทยเช้านี้แกว่งตัวออกข้างในกรอบ 1,640-1,660 จุด SET Index ยังอยู่ในแนวโน้มหลักขาขึ้นแต่อัพไซต์จะเริ่มจำกัด หลังการปรับตัวขึ้นมากกว่า 120 จุด ในช่วง 15 วันทำการที่ผ่านมา กลยุทธ์การลงทุนแนะนำ “ซื้อสะสม” หุ้นกลุ่มเปิดเมืองเมื่อราคาย่อตัว

วันที่ 6 กันยายน 2564 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ว่า คาดเช้านี้ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มแกว่งตัวออกข้างในกรอบระหว่าง 1,640-1,660 จุด หลังปัจจัยการเมืองในประเทศคลี่คลายด้วยสภาผู้แทนราษฎรยังคงมีมติไว้วางใจให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 5 คน ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มขับไล่รัฐบาลยังไม่มีน้ำหนักกดดัน SET Index ในตอนนี้ แต่ต้องจับตาการยกระดับการชุมนุมในอนาคต

ด้านสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศแนวโน้มผู้ติดเชื้อยังทรงตัวหลังคลายมาตรการคุมเข้มระยะที่ 1 ตั้งแต่ 1 ก.ย. 64 ยังต้องจับตาสัปดาห์นี้ว่าการเริ่มพิจารณาคลายมาตการระยะที่ 2 จะสามารถดำเนินต่อไปได้หรือไม่

ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนที่ค่าเฉลี่ย 7 วันสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีผู้ได้รับวัคซีนโดสแรกแล้วกว่า 93% และได้รับวัคซีนครบโดสแล้วกว่า 30% อาจเป็นพื้นที่นำร่องการคลายมาตรการคุมเข้ม เปิดกิจการ กิจกรรมต่างๆ เต็มรูปแบบในไม่ช้า

โดยภาพรวมมองว่า SET Index ยังอยู่ในแนวโน้มหลักขาขึ้นแต่อัพไซต์จะเริ่มจำกัด หลังการปรับตัวขึ้นมากกว่า 120 จุด ในช่วง 15 วันทำการที่ผ่านมา กลยุทธ์การลงทุนทางฝ่ายวิจัยยังคงคำแนะนำ “ซื้อสะสม” หุ้นกลุ่มเปิดเมืองเมื่อราคาย่อตัว

ส่วนกรณีสหรัฐประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรออกมาเพียง 235,000 ตำแหน่ง น้อยกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 750,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานออกมาอยู่ที่ 5.2% ตรงตามที่ตลาดคาดการณ์ สะท้อนการจ้างงานของสหรัฐในครึ่งปีหลังเริ่มสะดุดหลังเผชิญการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ทำให้เงินดอลลาร์
สหรัฐอ่อนค่าลง หนุนเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ(Fund Flow) ไหลกลับมาตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)

อีกทั้งช่วยลดความกังวลการเร่งทำ QE Tapering ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ลงเนื่องจากการจ้างงานยังคงห่างไกลจากเป้าหมายของ Fed จึงคาดว่าการประชุม FOMC เดือน ก.ย.64 นี้ Fed อาจจะประกาศเพียงแผนการทำ QE Tapering และเริ่มประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุม FOMC เดือน พ.ย. 64

ซึ่งตลาดน่าจะเริ่มมองข้ามปัจจัยนี้ และหันมาให้น้ำหนักกับการเติบโตของเศรษฐกิจและการควบคุมการระบาดของ COVID-19 มากขึ้น ที่ต้องลุ้นว่าฝั่งสหรัฐและยุโรปจะกลับมาเปิดประเทศได้ภายในครึ่งปีหลังของปี 64 หรือไม่

ติดตามประเด็นสำคัญสัปดาห์นี้ (ตามเวลาไทย) 1.วันที่ 7 ก.ย. ตัวเลขการส่งออก-นำเข้าของจีน ที่คาดว่าน่าจะยังชะลอลงต่อเนื่องจากผลกระทบการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าและเหตุน้ำท่วมใหญ่

2.วันที่ 9 ก.ย. การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่คาดว่าน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิม แต่ต้องรอติดตามว่า ECB จะปรับแผนการทำ QE ผ่านโครงการ PEPP หรือไม่ หลังจากที่ Fed  ประกาศทำ QE  Tapering ภายในสิ้นปีนี้

และ 3.วันที่ 9-10 ก.ย. ถ้อยแถลงนายจอห์น วิลเลียม ประธาน Fed สาขา NewYork ที่เป็นหนึ่งในผู้ใกล้ชิดนายเจอร์โรม พาวเวลล์ หลังตัวเลขแรงงานสหรัฐผิดคาดจะส่งผลต่อนโยบายการเงินของ Fed หรือไม่