อีซีบีส่งสัญญาณปรับลด QE เฟสแรก

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 6 กันยายน-10 กันยายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (6/9) ที่ระดับ 32.50/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (3/9) ที่ระดับ 32.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐร่วงลงภายหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 235,000 ตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 720,000 ตำแหน่ง หลังจากพุ่งขึ้น 1,053,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม

ขณะที่อัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 5.2% ในเดือนสิงหาคม สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 5.4% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลสำคัญของภาคแรงงานชุดสุดท้ายก่อนที่จะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 21-22 กันยายนนี้ ทำให้นักวิเคราะห์ปรับลดความคาดหวังที่เฟดจะกำหนดเป้าหมายในการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังเช่นในการประชุมรอบเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ดี ดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่ากลับอย่างรวดเร็วจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรในช่วงที่ยังไม่มีปัจจัยหนุนตลาดชัดเจน ก่อนที่จะเริ่มทำกำไรกลับในวันพฤหัสบดี (9/9) หลังการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

ในส่วนของคณะบริหารของประธานาธบดีโจ ไบเดน ได้เปิดเผยแผนการมูลค่า 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยประเทศในการต่อสู้กับภัยคุกคามทางชีววิทยาครั้งใหม่ หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สิ้นสุดลง เนื่องจากนายอีริก แลนเดอร์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประธานาธิบดีไบเดน และผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในวันศุกร์ที่แล้ว (3/9) ว่า การระบาดใหญ่ครั้งต่อไปนั้น มีแนวโน้มที่จะ “แตกต่างอย่างมาก” จากโรคโควิด-19

ดังนั้นรัฐบาลสหรัฐจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในขณะนี้เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากไวรัสในอนาคต ทั้งนี้ แผนการดังกล่าวเผยแพร่ในเอกสาร 27 หน้าที่ชื่อ “การเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดของอเมริกา : ปรับปรุงความสามารถของเรา (American Pandemic Preparedness : Transforming our Capabilities) นั้นเรียกร้องให้มีการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในทศวรรษหน้า เพื่อปรับปรุงด้านวัคซีนและการรักษาโรค และทำการยกระดับอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่สามารถใช้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สถาบันวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2564 มีความเสี่ยงสูงที่จะกลับมาติดลบจากไตรมาสก่อน ซึ่งจะนับเป็นการติดลบครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีที่แล้ว จากการระบาดที่รุนแรงของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม และลากยาวกว่าที่คาด ส่งผลให้ทางการต้องประกาศขยายพื้นที่บังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวดสูงสุดเพิ่มเป็น 29 จังหวัด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ในเดือนกรกฎาคม การใช้จ่ายในประเทศและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการระบาดของโควิดที่รุนแรง โดยดัชนีการบริโภคภาคอุตสาหกรรมลดลงมากจากเดือนก่อน (-5.3%) ตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ถูกจำกัดจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น รายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง สำหรับด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อนเช่นกัน (-3.8%) โดยลดลงทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง สอดคล้องกับอุปสงค์ที่ซบเซาและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่อ่อนแอ อีกทั้งยังได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้างที่เข้มงวดขึ้น

ขณะที่ภาคส่งออกยังเติบโตได้แต่มีอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในบางประเทศคู่ค้าทำให้ความต้องการสินค้าลดลง สำหรับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงมากจากเดือนก่อน (-5.1%) เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศอ่อนแอลง กอปรกับการแพร่ระบาดในบางโรงงานทำให้ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ส่วนภาคท่องเที่ยว แม้เริ่มเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ในเดือนกรกฎาคมแต่ยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 18,056 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับปกติอยู่มาก ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.32-32.84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (10/9) ที่ระดับ 32.61/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันจันทร์ (6/9) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1877/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/9) ที่ระดับ 1.1869/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวอ่อนค่าตามสกุลเงินหลักอื่น รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ลดต่ำลง จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบซึ่งสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เดลต้า อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจากย่องไปทดสอบแนวรับที่ระดับ 1.1800 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แม้อีซีบียังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และไม่ได้ประกาศปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (PEPP) ในการประชุมในวันพฤหัสบดี (9/9)

แต่อีซีบีก็ได้ส่งสัญญาณในการปรับลดวงเงินโครงการ PEPP ในแถลงการณ์หลังการประชุม ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า อีซีบีจะลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามโครงการ PEPP เหลือเพียง 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ก่อนที่จะลดวงเงินอีกในต้นปี 2565 และจะยุติโครงการในเดือนมีนาคม 2565 ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1888-1.1802 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (10/9) ที่ระดับ 1.1848/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (6/9) ที่ระดับ 109.80/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/9) ที่ระดับ 109.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะเริ่มปรับตัวอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับสกุลเงินหลักอื่น นอกจากนี้มีรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจขยายเวลาการบังคับใช้ภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวและเขตปริมณฑล ซึ่งกำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 12 กันยายน เนื่องจากโรงพยาบาลยังคงเผชิญกับภาระหนัก แม้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงไปจนถึงสิ้นเดือนนี้

ขณะเดียวกันนายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีประกาศว่าเขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตยหลังหมดวาระในวันที่ 30 กันยายน จึงหมายความว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางของมาตรการดังกล่าวต่อไป โดยคณะที่ปรึกษาด้านโรคโควิด-19 ของรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินควรถูกยกเลิกต่อเมื่ออัตราการใช้เตียงในโรงพยาบาลญี่ปุ่นลดลงต่ำกว่า 50% และผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงถึงปานกลางมีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.62-110.46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (10/9) ที่ระดับ 109.88/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ