ธปท.คลอด “รวมหนี้ข้ามแบงก์” ดอกเบี้ย 9% ธนาคารอัดแคมเปญดูดลูกค้าคู่แข่ง

ธปท.ออกมาตรการหนุน “รวมหนี้ข้ามแบงก์” ดอกเบี้ยไม่เกิน 10% ภายใน ต.ค.นี้ แบงก์แห่อัดแคมเปญ “สินเชื่อบุคคลรวมหนี้” ดูดฐานลูกค้าสถาบันการเงินคู่แข่ง ชี้ตอบโจทย์ช่วยลดภาระลูกหนี้ในภาวะวิกฤต ยอมรับแนวโน้มปล่อยสินเชื่อใหม่ลดลง เผยหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง-ก่อหนี้ใหม่ยาก

แบงก์อัด “สินเชื่อรวมหนี้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ออกแคมเปญ “สินเชื่อรวมหนี้รายย่อย” ออกมาตอบโจทย์ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาทางการเงิน มีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงินหลายแห่งโดยเฉพาะ “หนี้ไม่มีหลักประกัน” เป็นการยื่นข้อเสนอรวมหนี้ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล จากสถาบันการเงินต่าง ๆ มารวมไว้ที่ธนาคารเดียว ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ พร้อมยืดระยะเวลาชำระหนี้เพื่อผ่อนภาระต่อเดือนให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้

อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ออกแคมเปญ “หนี้หนัก ๆ ผ่อนให้เป็นเบาได้ รวบหนี้บัตรกับ SCB ผ่อนสบายสูงสุด 72 เดือน” อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 9.99% ต่อปี (ดอกเบี้ย 9.99% เฉพาะเดือนที่ 1-12 สำหรับลูกค้าที่เป็นพนักงานประจำ ที่โอนหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคล ของสถาบันการเงินอื่น ที่ได้รับวงเงินตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป)

ด้านธนาคารกสิกรไทยโปรโมตสินเชื่อเงินด่วน XPRESS LOAN “เงินก้อนทันใจ ปิดหนี้หมดไว สบายตัว เงินยังเหลือใช้” โดยลูกค้าสามารถใช้รวมหนี้ หรือปิดหนี้ก็ได้ ซึ่งผู้มีเงินเดือน 7,500 บาท ก็สามารถกู้ได้แบบไม่ต้องค้ำประกัน ธนาคารซิตี้แบงก์นำเสนอ “สินเชื่อบุคคลธนาคารซิตี้แบงก์ รวมหนี้เพื่อลดภาระหนี้” อัตราดอกเบี้ยเลือกได้ต่ำสุด 13.99% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 60 เดือน ไม่ต้องค้ำประกัน อนุมัติวงเงินสูงสุด 2 ล้านบาท

ขณะที่ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย เสนอ “รวมหนี้เป็นก้อนเดียวภาระเบากว่า” ด้วยสินเชื่อบุคคลอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 9.99% ต่อปี นานสูงสุด 120 วัน วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาท ผ่อนชำระขั้นต่ำ 3% เงื่อนไขต้องเป็นพนักงานประจำเงินเดือน 3 หมื่นบาทขึ้นไป

ลดภาระหนี้-ผ่อนเบาขึ้น

นายภราดร วีเปลี่ยน ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ สายงานธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันจะเห็นหลายสถาบันการเงินออกมาทำโปรดักต์รวมหนี้กันมากขึ้น เนื่องจากตลาดมีความต้องการและแนวโน้มก็ขยายตัวมากขึ้น ต่างจากอดีตที่ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการวงเงินสินเชื่อใหม่ แต่ปัจจุบันลูกค้าต้องการที่จะลดภาระผ่อนชำระค่างวดที่ลดลง เพื่อให้มีสภาพคล่องมากขึ้น ทำให้การรวมหนี้ทำสัญญาใหม่ตอบโจทย์ในภาวะปัจจุบัน

สำหรับธนาคารเกียรตินาคินภัทรได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ “รวมหนี้กับสินเชื่อส่วนบุคคล” ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ผลตอบรับค่อนข้างดี โดยมีสัดส่วนการขอวงเงินรวมหนี้ประมาณ 15-20% ของลูกค้าขอสินเชื่อใหม่ทั้งหมด หรือราว 40-50 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ความต้องการยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ลุ้นยอดอนุมัติแค่ 30%

นายภราดรกล่าวว่า การแข่งขันสินเชื่อเพื่อรวมหนี้ในตลาดจะมีหลายมิติ โดยส่วนใหญ่จะให้ข้อเสนออัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกค้า เช่นเดียวกับ KKP โดยลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำจะได้รับข้อเสนออัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 13-14% ตลอดอายุสัญญา ถือว่าต่ำที่สุดในตลาดตอนนี้

หากลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 24-25% สอดคล้องกับโอกาสกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สำหรับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงจากที่ธนาคารคิดดอกเบี้ยชนเพดานที่ 24-25% หลังจากผ่อนชำระกับธนาคารได้ดีครบ 1 ปี ธนาคารก็จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยใหม่ให้ถูกลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตามการให้สินเชื่อรวมหนี้ ภาพรวมตลาดก็มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ราว 75-80% ในส่วนของ KKP อัตราการอนุมัติเฉลี่ย 30% ทั้งนี้ สาเหตุของการปฏิเสธสินเชื่อส่วนใหญ่ลูกค้ามีภาระหนี้ค่อนข้างสูง หรือมีพฤติกรรมการผ่อนชำระที่ไม่ดีนัก

“แนวโน้มความต้องการสินเชื่อรวมหนี้ ในลักษณะของการรีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงินอื่น ๆ มีโอกาสมากกว่าการขอสินเชื่อใหม่ และสอดคล้องกับ ธปท.ที่ต้องการให้ทำ แต่มาตรการ ธปท.จะเป็นการรวมหนี้ที่มีหลักประกัน ซึ่งทำได้ยากกว่า เพราะคนส่วนใหญ่เป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน โดยเรามองว่าการรวมหนี้ลูกค้าจะได้ประโยชน์จากโปรดักต์ ทั้งลดภาระดอกเบี้ย ลดภาระผ่อนลง ทำให้มีสภาพคล่องเหลือด้วย” นายภราดรกล่าว

โฟกัสกลุ่มที่มีรายได้ประจำ

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้การก่อหนี้ใหม่ค่อนข้างยาก จึงทำให้สถาบันการเงินหันมารุกตลาดเรื่องลดภาระหนี้โดยเสนอการรวมหนี้แทน

เนื่องจากลูกค้ายังมีความสามารถในการชำระหนี้ แต่รายได้ลดทำให้ความสามารถลดลง ซึ่งวิธีการรวมหนี้ช่วยยืดเวลาการชำระหนี้ ลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลง ซึ่งถูกกว่าการจ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิต หรือรถแลกเงิน

สำหรับสินเชื่อบุคคล “รวมหนี้” ไม่มีหลักประกันของธนาคารจะเน้นกลุ่มที่มีรายได้ประจำตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไป โดยแคมเปญที่ได้รับความสนใจจะเป็นอัตราดอกเบี้ย 11.84% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 24 เดือน และอัตราดอกเบี้ย 13.33% ต่อปี ระยะเวลา 36 เดือน สำหรับกลุ่มรายได้ 5 หมื่นบาทขึ้นไป

รวมหนี้สินเชื่อบุคคลพุ่ง

“การรีไฟแนนซ์รวมหนี้แบบไม่มีหลักประกัน จะทำได้ค่อนข้างง่ายกว่าการรวมหนี้ที่มีหลักประกัน เพราะลูกค้าไม่อยากให้เอาบ้านหรือรถมาเป็นหลักประกัน เนื่องจากกลัวถูกยึดหากผ่อนไม่ไหว ทำให้โปรดักต์รวมหนี้ด้วยสินเชื่อบุคคลมีความต้องการ และแบงก์ก็หันมาเล่นธีมนี้มากขึ้น เพราะลูกค้าต้องการลดภาระหนี้เดิม

ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ เราสามารถปล่อยสินเชื่อรวมหนี้ได้แล้ว 1,800 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 225 ล้านบาท ขณะที่คุณภาพหนี้ยังดีมาก เอ็นพีแอลอยู่ที่ประมาณ 2%” นายเอกสิทธิ์กล่าว

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การเติบโตสินเชื่อส่วนบุคคลมีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของธนาคารพาณิชย์ที่เห็นสัญญาณการเร่งตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ จากเดิมที่ส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อบุคคลจะอยู่กับกลุ่มน็อนแบงก์มากกว่า โดยในเดือน ก.ค. มาร์เก็ตแชร์สินเชื่อบุคคลของแบงก์อยู่ที่ 44% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ที่อยู่ 39%

ธปท.รวมหนี้ดอกไม่เกิน 10%

ขณะที่นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายในเดือนตุลาคมนี้ ธปท.จะออกแนวทางการสนับสนุนให้เกิดการรวมหนี้ (debt consolidation) ระหว่างสินเชื่อมีหลักประกันและไม่มีหลักประกันข้ามสถาบันการเงิน จากก่อนหน้านี้ที่กำหนดภายในธนาคารเดียวกัน

โดย ธปท.จะมีการเพิ่มแรงจูงใจให้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น และจะมีการกำหนดกรอบอัตราดอกเบี้ยในการรวมหนี้ตามความเสี่ยงของลูกค้า เช่น สินเชื่อบ้านจะคิดในอัตรา 6-8% และสินเชื่อส่วนบุคคลจะคิดอัตราเฉลี่ย 16-18%

หากรวมหนี้แล้วอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 10% อย่างไรก็ดี ธปท.จะไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ย แต่จะกำหนดเป็นกรอบให้สถาบันการเงิน รวมถึงห้ามคิดค่าธรรมเนียมการชำระหนี้คืนก่อนกำหนด (prepayment fee) ในส่วนของสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการรวมหนี้มากขึ้น

“โปรดักต์นี้เคยมีมาก่อนแล้ว แต่พอมาทำแล้วธุรกรรมเกิดไม่เยอะ เพราะลูกค้าไม่อยากทำ ส่วนหนึ่งกังวลถ้าชำระไม่ได้จะทำให้เสียบ้านหรือเปล่า แต่หากทำได้ดอกเบี้ยจะลดลงจากระดับ 25% ลงมาเหลือ 9% ดังนั้น เราจะออกแนวทางสนับสนุนแบงก์ให้ทำตามเกณฑ์ 1,2,3 แต่คงไม่ฟิกซ์ดอกเบี้ยแต่จะมีกรอบให้ เราพยายามผลักดันให้เกิดการแข่งขันในตลาดนี้ และปริมาณธุรกรรมจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกค้าอย่างมาก”