เงินบาทปรับตัวแข็งค่า หลังนายกฯแถลงเปิดประเทศต้นเดือนหน้า

เงินบาท

ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่า หลังนายกฯแถลงเปิดประเทศต้นเดือนหน้าโดยไม่ต้องกักตัว สำหรับผู้ที่ได้วัคซีนครบ ส่วนสถานบันเทิง ดื่มเหล้า นั่งกินในร้าน คาดผ่อนคลาย 1 ธ.ค. ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.46/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 12 ตุลาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/10) ที่ระดับ 33.50/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/10) ที่ระดับ 33.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยเมื่อคืนนี้มีกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประกาศลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือนหน้า แม้ว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐขยายตัวต่ำกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้

โดยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ที่เปิดเผยเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเพียง 194,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 500,000 ตำแหน่ง หลังจากแตะระดับ 366,000 ตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ส่วนอัตราว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 51%

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เปิดเผยเมื่อคืนนี้ของสหรัฐ เปิดเผยแนวโน้มการจ้างงานในเดือนกันยายน ออกมาระดับ 110.35 ต่ำกว่าในเดือนสิงหาคมที่ระดับ 110.68 อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาธนาคารกลางของสหรัฐ ที่จะเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนกันยายนในวันพุธนี้ ตามเวลาสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยและแนวโน้มการปรับลดวงเงิน QE

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปิดตลาดเมื่อวานนี้ หลังจากนายกฯออกแถลงการณ์ ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ สั่งเร่งพิจารณาเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนนี้ โดยไม่ต้องกักตัว สำหรับผู้ที่ได้วัคซีนครบ โดยมีเงื่อนไขแสดงผลตรวจเท่านั้น โดยจะเริ่มใช้กับกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างน้อย 10 ประเทศ

นอกจากนี้ยังมีการระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม จะผ่อนคลายให้สามารถนั่งดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน และเปิดสถานบันเทิงได้เพื่อต้อนรับเทศกาลเฉลิมฉลอง ซึ่งจากถ้อยแถลงดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.42-33.69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.46/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (12/10) ที่ระดับ 1.1550/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (12/10) ที่ระดับ 1.1554/56 ดอลลาร์หรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังถูกกดดันอย่างต่อเนื่องหลังจากนักลงทุนมองว่าธนาคารกลางยุโรปจะยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดการซื้อพันธบัตร หรือการปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่อย่างใด ซึ่งตรงข้ามกับธนาคารกลางสหรัฐที่จะเริ่มมีการปรับนโยบายการเงินในเร็ววันนี้

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจมีการประกาศตัวเลขดัชนีราคาค้าส่งของเยอรมนีออกมา 0.8% ในเดือนกันยายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 0.5% ในเดือนสิงหาคม โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1558-1.15868 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1559/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/10) ที่ระดับ 113.41/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/10) ที่ระดับ 112.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าถึงแม้เมื่อวานนี้กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 49 ราย แตะระดับต่ำสุดเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันในปีนี้

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เปิดเผยรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.3% ในเดือนกันยายน มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.9% และปรับตัวมากกว่าครั้งก่อนที่ 5.8% โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.07-113.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.34/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของยูโรโซน (12/10), ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนสิงหาคม (12/10), ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมของยูโรโซนในเดือนสิงหาคม (13/10),

ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐในเดือนกันยายน (13/10), รายงานการประชุมเฟด (14/10), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐในเดือนกันยายน (14/10), ดัชนียอดขายปลีกของสหรัฐในเดือนสิงหาคม (15/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.80/+0.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.40/+3.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ