จับตาฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดอาเซียนกดเงินบาทแข็งค่า 33 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาท ดอลลาร์

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่า 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ จับตาตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ของจีน-ราคาพลังงานตลาดโลก-บอนด์ยีลด์พุ่ง คาดกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดอาเซียน-ไทย

วันที่ 17 ตุลาคม 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 18-22 ตุลาคม 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศจีน รวมถึงตัวเลขการลงทุนและค้าปลีก รวมถึงติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจของจีน สหรัฐฯ และยุโรปอาจจะออกมาไม่สดใสนัก ส่งผลให้ตลาดมีมุมมองเปิดรับความเสี่ยงตลาดอาเซียน จึงต้องติดตามกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) จากนักลงทุนต่างชาติจะไหลเข้ามาในตลาดไทยมากน้อยระดับใด โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 11-15 ต.ค.64) นักลงทุนซื้อสุทธิในตลาดหุ้น 9,428 ล้านบาท และพันธบัตร 5,052 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าทิศทางฟันด์โฟลว์จะเห็นการไหลเข้าในตลาดหุ้นที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดพันธบัตร (บอนด์) เนื่องจากตลาดยังแฮปปี้กับผลรายได้ (Earnings) ของแต่ละบริษัทที่ทยอยรายงานงบการเงินหลักๆ เช่น Netflix, Tesla, Intel, และ IBM เป็นต้น ส่งผลให้เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าได้ แต่การแข็งค่าไม่มากหรือหลุดกรอบ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของไทยยังไม่ดี และต้องติดตามการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงยอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศด้วย

“เรื่องเศรษฐกิจคนและนักลงทุนคงไม่ได้โฟกัสมากแล้ว เพราะมองว่าน่าจะทยอยฟื้นตัว แต่คนจะโฟกัส Earnings ที่หลายบริษัททยอยรายงานออกมา ซึ่งจะเห็นฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาซื้อหุ้นบ้านเราบ้าง ซึ่งช่วยให้บาทแข็งได้ แต่คงแข็งไม่เยอะ ส่วนบอนด์อาจจะยังไม่เห็นโฟลว์ชัดเจนในสัปดาห์หน้า เพราะตลาดรอดูอัตราผลตอบแทน (Yield) ด้วย หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมามีประมูลวันที่ 12 ต.ค. แต่เห็นนักลงทุนเข้ามาหลังวันที่ 14 ต.ค.ซื้อราว 5,000 ล้านบาท”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยต้องติดตามปัจจัยราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) หากสูงขึ้นต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยบาทอ่อนได้

ขณะที่ข้อมูลที่น่าสนใจอื่นๆ จะมีตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ของจีน ส่วนของสหรัฐฯ จะมีตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดขายบ้าน

“กระแสเงินทุนไหลเข้าในสัปดาห์ล่าสุดเกิดจากความหวังเรื่องการเปิดประเทศ และการพักฐานของดอลลาร์ในตลาดโลก ขณะที่ฟันด์โฟลว์สัปดาห์หน้าแนวโน้มผันผวนสูง ต่างชาติอาจชะลอการซื้อในระยะสั้น เรามองดอลลาร์พักตัวชั่วคราว โดยปัจจัยเงินเฟ้อยังหนุนการคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า”