ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า จับตาข้อมูลเศรษฐกิจ-การประชุมแบงก์ชาติทั่วโลก

ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง จับตาข้อมูลเศรษฐกิจและการประชุมแบงก์ชาติทั่วโลก ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าตามทิศทางตลาดโลก ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ลุ้นรายได้ภาคการท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศ 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/10) ที่ระดับ 33.31/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (27/10) ที่ระดับ 33.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทแข็งค่าตามทิศทางตลาดโลก เนื่องจากเมื่อคืนนี้ดอลลาร์สหรัฐและบอนด์ยีลด์สหรัฐย่อตัวลง ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปลดลง 0.4% ในเดือน ก.ย. โดยได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของยอดสั่งซื้อรถยนต์และเครื่องบิน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยถึงสถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทยว่า ขณะนี้ปรับตัวดีขึ้นโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือเอ็มพีไอ เดือน ก.ย. 64 กลับมาขยายตัวอีกครั้ง และคาดว่า เดือน ต.ค.จะดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เริ่มคลี่คลายผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนและแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันรัฐผ่อนคลายกิจกรรมเศรษฐกิจมากขึ้น พร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน

นอกจากนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2564 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 1% หลังจากเริ่มมีการเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย. ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยในช่วงปลายปีนี้จะเป็นการเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม

และคาดว่าในปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยและเพิ่มขึ้นแตะระดับ 6 ล้านคน

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.26-33.32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/10) ที่ระดับ 1.1595/98 ดอลลาร์สรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (27/10) ที่ระดับ 1.1597/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรฟื้นตัวขึ้นหลังจาก GfK ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยตลาดของเยอรมนี เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเยอรมนีเดือน พ.ย.ปรับตัวขึ้นแตะ 0.9 จากระดับ 0.4 ของเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.5

ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งจะจัดการประชุมในวันนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1586-1.1620 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1591/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/10) ที่ระดับ 113.73/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (27/10) ที่ระดับ 113.67/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือน ก.ย. เนื่องจากผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการใช้งาน ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดขอโรคโควิด-19 ซึ่งตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงชะลอตัวในไตรมาส 3

นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศคงนโยบายการเงิน และปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสำหรับปีงบการเงินที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค. และยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อไป โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.47/113.86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.66/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (28/10), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2564 (ประมาณการเบื้องต้น) (28/10), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ของยูโรโซน (29/10) และอัตราเงินเฟ้อ Cor PCE Price Index เดือน ก.ย.ของสหรัฐ (29/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.80/+0.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.40/+3.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ