อุปสรรคในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

คอลัมน์ นั่งคุยกับห้องค้า

กฤติกา บุญสร้าง, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย
ธนาคารกสิกรไทย

 

ในภาวะที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัว ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจากการชะงักงันของภาคอุปทาน และราคาพลังงานที่พุ่งสูงจากปริมาณการผลิตน้ำมันที่ต่ำกว่าความต้องการใช้ท่ามกลางการเปิดเมือง ในขณะที่ความเสี่ยงจากโควิด-19 ถูกละเลย ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดมีมุมมอง Hawkish และคาดการณ์ว่าเฟดจำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปีหน้า โดยจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2022 นั้น

การคาดการณ์ดังกล่าวสร้างแรงกดดันมหาศาลต่อเฟดและตลาดการเงินที่ปรับตัวรับรู้ตอบสนองต่อการคาดการณ์ดังกล่าวไปแล้ว สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของสหรัฐในอีก 1 ปีข้างหน้าที่สูงแตะระดับ 1.00% ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน ส่งแรงกดดันไปสู่เฟดที่ระบุในรายงานการประชุมเดือนพฤศจิกายนว่าพร้อมจะเร่งความเร็วในการลดคิวอี หากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง

ในขณะที่โพเวลล์ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานเฟดสมัยที่ 2 ประกาศว่าพร้อมจะใช้เครื่องมือในการจัดการกับเงินเฟ้อ โดยการตัดสินใจนี้อาจได้รับแรงกดดันทางการเมืองสหรัฐด้วยส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะต้องพิจารณาในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก คือเป้าหมายเงินเฟ้อ และการจ้างงาน แม้เงินเฟ้อสหรัฐจะพุ่งสูงแตะระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี ที่ 6.2% ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราการว่างงานสหรัฐลดลงมาอยู่ที่ 4.6% ในเดือนตุลาคม ต่ำกว่าคาดการณ์ของเฟดที่ 4.8% ณ สิ้นปี 2021 ส่งสัญญาณว่าตลาดแรงงานสหรัฐฟื้นตัวต่อเนื่อง

ตลาดแรงงาน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของสหรัฐในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 61.6% ยังคงต่ำกว่าก่อนเกิดโควิดที่ 63.4% จากการลาออกครั้งใหญ่ในสหรัฐ ด้วยผลของเงินช่วยเหลือว่างงานและวิธีการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังโควิด ทั้งนี้ หากสมมุติให้การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของสหรัฐอยู่ในระดับก่อนเกิดโควิด อัตราการว่างงานในตุลาคม ควรจะอยู่ที่ 6.3% สะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังไม่ได้กลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดอย่างแท้จริง

ประกอบกับในวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ความกลัวของหลายคนเป็นจริง จากการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ครั้งใหญ่ของโควิด-19 ในแอฟริกาใต้ เป็นผลลัพธ์จากการกระจายวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกันทั่วโลก โดยทวีปแอฟริกามีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสเพียงแค่ 7% ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนครบโดสของทั้งโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 43%

การกลายพันธุ์ครั้งใหญ่นี้ทำให้องค์การอนามัยโลกแสดงความกังวลอย่างมากและจำเป็นต้องเรียกประชุมด่วน โดยคุณสมบัติที่เปลี่ยนแปลงไปของโอไมครอนยังอยู่ระหว่างการศึกษา ทั้งในแง่ความทนทานต่อวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน การแพร่กระจาย และคุณสมบัติอื่น ๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงสำคัญอีกครั้ง ทำให้ตลาดโลกกลับเข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง (risk off) โดยทันที ท่ามกลางแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

ท่ามกลางความเสี่ยงดังกล่าว เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงมีแนวโน้มจะชะลอตัวลง จากการที่หลายประเทศทยอยปรับเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการรับมือโควิด-19 ประกอบกับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าจะทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น เราประเมินว่าทั้งความเสี่ยงจากโอไมครอน ตลาดแรงงานสหรัฐที่ยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด และเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลง จะทำให้เฟดยากที่จะขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีหน้า

และประเมินว่าโอไมครอนมีแนวโน้มทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจชะลอออกไป แต่คาดว่าผลลบจะน้อยกว่าการแพร่ระบาดในระลอกแรก เนื่องจากในครั้งนี้ เรามีวัคซีนและยารักษาที่สามารถพัฒนาต่อยอดให้เข้ากับสายพันธุ์ใหม่ได้ ท่ามกลางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมาก และประสบการณ์การอยู่ร่วมกับโควิดมากว่า 2 ปีแล้ว