โลกก้าวสู่ยุคแบ่งขั้วอำนาจ “TDRI” แนะตีโจทย์ วางกลยุทธ์เคลื่อนเศรษฐกิจ

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (แฟ้มภาพ)

TDRI เผยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผลักโลกก้าวสู่ยุคแบ่งขั้วอำนาจ ชี้ไทยต้องตี 3 โจทย์ใหญ่ เลือกฝั่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมเปิดกลยุทธ์ต้องทำ หวังรัฐบาลใหม่เข้าใจความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์

วันที่ 2 เมษายน 2565 นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า หลังจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน มีโลกอยู่ 3 ขั้ว ได้แก่ กลุ่มโลกทางยุโรป และอเมริกาที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น จึงกลายเป็น 1 ขั้วที่กำหนดระบบของโลก กลุ่มต่อมาคือ จีน และอันดับสุดท้ายเป็นประเทศอื่นๆ ที่เหลือในโลก อย่างไรก็ดี 2 ขั้วแรกสามารถกำหนดมาตรฐานทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีต่างๆ ได้ ซึ่งประเทศไทยเป็นจุดสำคัญอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะต้องเลือกฝั่ง เนื่องจากระยะต่อไปจะมีแนวโน้มเป็น 2 มาตรฐานที่แข่งขันกัน

“รูปแบบที่เห็นตอนนี้คือ เทคโนโลยี หากมี 6G เกิดขึ้น อาจจะมีการแย่งห่วงโซ่อุปทานกัน ซึ่งจะมีมาตรฐานระหว่างตะวันตก และจีน ซึ่งประเทศไทยจะเจอโจทย์ว่าจะเลือกเล่นฝั่งใด และยังมีมาตรฐานเศรษฐกิจและสังคมอีกมากที่จะต้องตัดสินใจ ซึ่งยังมีโจทย์ที่ประเทศขนาดเล็กอย่างไทยยากที่จะไปกำหนดกฎกติกาของโลก”

ทั้งนี้ ไทยต้องมีการตีโจทย์ 3 ข้อ ได้แก่

1. การรักษาระยะห่างที่เหมาะสมกับคู่ขัดแย้ง ซึ่งจะต้องมีการรักษาระยะห่างเท่าๆ กัน

2. ไทยต้องบริหารความสมดุลของเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันด้านการส่งออกยังบริหารได้อย่างดี แต่ในรายละเอียดยังต้องมีความสมดุล ซึ่งอาจมีผลต่อการกำหนดนโยบาย เช่น การบริหารความสมดุลเรื่องนักท่องเที่ยว ที่พึ่งพานักท่องเที่ยวจีนจำนวนมาก โดยก่อนโควิดนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาไทย 39 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 1 ใน 3 ฉะนั้น เมื่อจีนมีนโยบายป้องกันโควิด ยังไม่อนัญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ การท่องเที่ยวไทยก็ทรุดลง

3. เทคโนโลยี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนที่จะต้องตัดสินใจ แม้ว่าขณะนี้เทคโนโลยีไทยยังพัฒนาไม่ถึงที่จะไปเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนสินค้ายุทธศาสตร์ที่มีความขัดแย้งระหว่างจีนและอเมริกา รวมทั้งโลกตะวันตก แต่ในอนาคตจะเป็นแรงกดดันที่จะต้องการให้เลือกฝั่ง

นายสมเกียรติ กล่าวว่า เศรษฐกิจของไทยภายใต้โครงสร้างภูมิรัฐศาสตร์ที่โลกกำลังแบ่งขั้วกัน กลยุทธ์ของประเทศไทยที่จะต้องทำ ได้แก่ การเน้นการรวมกลุ่มทางภูมิภาค โดยเฉพาะอาเซียนให้มากขึ้น ซึ่งจะต้องใช้อาเซียนเป็นตลาด แรงงาน และแหล่งพลังงาน เนื่องจากขณะนี้อาเซียนเป็นตลาดที่กำลังโตเร็ว มีประชากร 620 ล้านคน และเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย 5%

ขณะที่ประเทศไทยทำได้ 3% ถือว่าเก่งมากแล้ว เนื่องจากประชากรมีเพียง 70 ล้านคน และอีกส่วนที่เศรษฐกิจเติบโตใกล้เคียงอาเซียนก็คือ จีน ซึ่งมีประชากร 1,400 ล้านคน โดยจีนก็อยู่ในโลกที่แบ่งขั้ว ฉะนั้น ไทยจึงควรถอยออกมา เพื่อรักษาระยะห่างที่เหมาะสม

“ในทางเศรษฐกิจเราควรไปหาตลาดใหม่มากขึ้น และเสนอว่าเป็นตลาดอาเซียน เพราะเป็นกลุ่มที่เหมาะสมสำหรับไทย ซึ่งเรามีเทคโนโลยีระดับปานกลาง เรามีแบรนด์ที่อยู่ในตลาดอาเซียน และอาเซียนก็ยังเป็นแหล่งแรงงานได้ รวมทั้งแหล่งพลังงาน ตอนนี้เราก็พึ่งพาไฟฟ้าจากลาว หากเชื่อมโยงโครงข่าวไฟฟ้าทั่วอาเซียนได้ จะมีโอกาสบริหารพลังงานภายในได้อย่างเหมาะสมด้วย โดยธุรกิจไทยก็เห็นโอกาสนี้มาพอสมควร โดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) มี 220 บริษัทแล้วที่ลงทุนในอาเซียน ลงทุนต่อปี 1.5 แสนล้านบาท ได้รายได้กลับมาปีละ 5 แสนล้านบาท จากรายได้ที่ไทยได้จากลงทุนในต่างประเทศ 3 ล้านล้านบาท”

ขณะเดียวกันต้องสร้างงานชนิดใหม่ในไทย ซึ่งอนาคตจะมีการย้ายฐานการผลิตจากปัญหาขวามขัดแย้งต่างๆ โดยจะเป็นโอกาสของไทย ที่จะดึงการลงทุนในเทคโนโลยีที่สูงขึ้น อย่างไรก็ ในทางการเมืองจะต้องมีทิศทางที่สอดคล้องกับประเทศเพื่อบ้านมากขึ้น เพื่อให้ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับขั้วมหาอำนาจ จะต้องรักษาสัมพันธ์เหล่านี้ไว้ต่อไป เพราะจะทำให้ไทยสามารถหาตลาดในโลกได้ แม้ปัจจุบันไทยยังไม่อยู่ในจุดต้องเลือกข้าง แต่จดนี้จะมาในวันใดวันหนึ่ง

ทั้งนี้ มองว่าประชาธิปไตยเป็นอนาคตสำหรับประเทศต่างๆ ในโลก และคาดว่าไทยจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ซึ่งมองว่าจะเป็นการเลือกตั้งรัฐบาลที่มีความเสรี และความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น โดยการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ที่จะได้มา จึงมองว่ารัฐบาลใหม่จะต้องเข้าใจความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ มากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะมีบทบาทมากขึ้น จึงอยากเห็นรัฐบาลใหม่ของไทยรักษาความสมดุลกับประเทศมหาอำนาจได้อย่างเหมาะสม