สินมั่นคง ดิ้น “ฟื้นฟู” หนีตาย “แฮร์คัตหนี้” เปิดทางผู้ร่วมทุนใหม่

สินมั่นคงประกันภัย

สินมั่นคง เดิมพันอนาคตฝ่าวิกฤตประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” เคลมทะลัก 4.1 หมื่นล้านบาท “หนี้สินล้นพ้นตัว” เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการหนีตาย ศาลล้มละลายนัดไต่สวน15 ส.ค. 2565 ผู้เอาประกันโควิดกว่า 3.5 แสนรายป่วน บริษัทหยุดจ่ายสินไหม

สะเทือนลูกค้าประกันรถยนต์-อัคคีภัยกว่า 2 ล้านฉบับ อู่ซ่อมปฏิเสธซ่อม วงในวิเคราะห์แผนฟื้นฟู “ลดหนี้-ยืดหนี้-หาผู้ร่วมลงทุนใหม่” เจ้าหนี้โควิดยื่นศาลคัดค้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากกรณีประกันโควิด-19 แบบ “เจอจ่ายจบ” ที่กลายเป็นระเบิดทำให้บริษัทประกันที่ขายกรมธรรม์แบบ “เจอจ่ายจบ” ประสบปัญหาวิกฤตสภาพคล่องจนต้องปิดกิจการไปแล้ว 4 บริษัท คือ บริษัท เอเชียประกันภัย, เดอะวัน ประกันภัย, อาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย

และที่กำลังเป็นประเด็นร้อนขณะนี้ก็คือกรณีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ที่ล่าสุดออกมาชี้แจงว่าบริษัทมีภาระจ่ายเคลมประกันโควิด-19 รวมทั้งสิ้นกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้มีการจ่ายสินไหมไปแล้ว 11,875 ล้านบาท โดยนำเงินจากกำไรสะสมทั้งหมดมาจ่าย และยอดคงค้างที่มีผู้ยื่นเคลมประกันอีกประมาณ 350,000 รายการ คิดเป็นค่าสินไหมประมาณ 30,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีปัญหาสภาพคล่องไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ เคลมให้กับผู้เอาประกันได้

SMK ได้สิทธิ “พักชำระหนี้”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 บริษัท สินมั่นคงฯ ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ศาลล้มละลายฯได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว ซึ่งศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท สินมั่นคงฯ ในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เพื่อที่ศาลจะพิจารณาว่าจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือไม่

Advertisment

ซึ่งตามข้อกฎหมาย ผู้เอาประกันในฐานะ “เจ้าหนี้” มีสิทธิคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้

โดยหลังจากการที่ศาลล้มละลายได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้วนั้น มีผลทำให้เกิด “สภาวะการพักชำระหนี้” (automatic stay) หมายความว่า บริษัท “สินมั่นคงฯ” ในฐานะลูกหนี้ จะได้รับความคุ้มครองหยุดพักการชำระหนี้ทั้งหมด ตามมาตรา 90/12 พ.ร.บ.ล้มละลายฯโดยอัตโนมัติทันที

หนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน

แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าวว่า ดังนั้นในส่วนของผู้เอาประกันที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างยื่นเคลมของบริษัท สินมั่นคงฯ ซึ่งมีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” จะยังไม่ได้รับการชำระค่าสินไหมทดแทน รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่ได้มีการเซ็นสัญญาทำข้อตกลงผ่อนชำระเป็นระยะเวลา 8 เดือนกับบริษัทไปก่อนหน้านี้ เพราะการที่บริษัทยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายก็เพราะว่าบริษัทไม่มีเงินพอที่จะชำระหนี้ ในลักษณะที่เรียกว่า “หนี้สินล้นพ้นตัว”

Advertisment

โดยเมื่อ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางบริษัท สินมั่นคงฯออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า ขณะนี้มีจำนวนเคลมสินไหม COVID-19 คงค้างอีกประมาณ 350,000 รายการ คิดเป็นค่าสินไหมประมาณ 30,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้นับรวมหนี้สินในส่วนอื่น ๆ

แจงแนวฟื้นฟู-หาผู้ลงทุนใหม่

บริษัท สินมั่นคงฯได้ระบุว่า บริษัทมีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย เพื่อให้บริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างต่อเนื่อง และปรับโครงสร้างการชำระหนี้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและแก้ไขฐานะการเงิน ซึ่งความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการให้ความร่วมมือของทุกฝ่าย

“บริษัทขอยืนยันว่า บริษัทมีเจตนาที่ดีในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินไหมโควิด-19 โดยการฟื้นฟูกิจการจะเปิดโอกาสให้บริษัท และผู้เอาประกันภัยได้เจรจาร่วมกัน เพื่อหาแนวทางในการชำระหนี้ที่เหมาะสม และเป็นแนวทางที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย”

นอกจากนี้ สินมั่นคงฯระบุว่าที่ผ่านมา บริษัทได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขภาระค่าสินไหมโควิด-19 ที่มีจำนวนมาก โดยการสรรหานักลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถทางการเงินในการชำระค่าสินไหมโควิด ซึ่งแม้ว่าจะมีนักลงทุนให้ความสนใจในธุรกิจหลักของบริษัท เนื่องจากมีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่สินไหมโควิดที่ปัจจุบันสูงกว่า 41,875 ล้านบาท คิดเป็นการจ่ายสินไหมที่สูงถึง 63 เท่าของเบี้ยประกันภัยรับ หรือ 6,300% เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจลงทุน

สะเทือนลูกค้า-คู่ค้า 2.5 ล้านราย

ทางบริษัท สินมั่นคงฯย้ำว่า การยื่นฟื้นฟูกิจการคือทางออกที่ดีที่สุดต่อทุกฝ่าย และหากบริษัทปิดกิจการ ผู้เอาประกันของบริษัททั้งหมดกว่า 2.5 ล้านฉบับ จะได้รับผลกระทบ รวมถึงพนักงานเกือบ 2,000 คน และคู่ค้าต่าง ๆ จะไม่ได้รับชำระหนี้และสูญเสียรายได้

ทั้งระบุว่า นักลงทุนยังแสดงความสนใจที่จะร่วมลงทุน หากบริษัทสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากปัญหาสินไหมโควิด เจอ จ่าย จบ จะได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ ธุรกิจหลักประกันภัยรถยนต์และน็อนมอเตอร์ (nonmotor) ยังมีศักยภาพ ผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องมาโดยตลอด และการชดใช้สินไหมประเภทอื่นยังสามารถดำเนินไปได้ตามปกติ

ประกันรถยนต์พอร์ตใหญ่

สำหรับผลประกอบการบริษัท สินมั่นคงประกันภัย ณ สิ้นปี 2564 พบว่าขาดทุนสุทธิ 4,753 ล้านบาท จากปี’63 ที่มีกำไร 757 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการจ่ายค่าสินไหมโควิด 8,141 ล้านบาท

ส่งผลให้อัตราค่าสินไหมรวม (loss ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 135.4% จาก 62.8% ในปี 2563 และมีหนี้สินรวม 9,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.18% ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจาก 6,901.23 ล้านบาท เหลือแค่ 2,196 ล้านบาท

ส่วนเบี้ยประกันรับปี 2564 มูลค่า 10,215 ล้านบาท โดยมาจากเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 8,144 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด (รวมเจอ-จ่าย-จบ) 1,859 ล้านบาท เบี้ยประกันอัคคีภัย 187 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 26 ล้านบาท

ลุ้นศาลพิจารณา 15 ส.ค.

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่ คปภ.ให้ความยินยอมแก่บริษัท สินมั่นคงประกันภัย เพื่อขอยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางนั้น คปภ.ไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร แต่บอกว่าทำอะไรต้องรักษาสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนเป็นหลัก ขณะที่เจ้าหนี้ของสินมั่นคงฯส่วนใหญ่เป็นผู้เอาประกันภัยรายย่อยหลายแสนราย และมีบางส่วนเป็นเจ้าหนี้บริษัทประกันภัย ที่มีการหักบัญชีร่วมกันกรณีเกิดเหตุเคลมประกันรถยนต์ชั้น 1

ส่วนขั้นตอนการชำระหนี้ผู้เอาประกันภัยนั้น แหล่งข่าว คปภ.กล่าวว่า ศาลได้มีการนัดไต่สวนวันที่ 15 ส.ค. 65 ว่า จะเห็นชอบสั่งให้มีการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ ดังนั้นขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีกระบวนการชำระหนี้อย่างไร เพราะหากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จะต้องมีการจัดประชุมเจ้าหนี้ทั้งหมด การตั้งผู้ทำแผน และการทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะมีการกำหนดเรื่องการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนนับจากนี้

แต่หากศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า บริษัทไม่เข้าคุณสมบัติ “หนี้สินล้นพ้นตัว” ตามมาตรา 90/3 หรือเป็นการร้องขอโดยไม่สุจริต ศาลจะสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหลังจากนั้นเจ้าหนี้ทั้งหลายก็ต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเพื่อติดตามฟ้องทวงหนี้กันเอง

เสนอแผน “ลดหนี้-ยืดหนี้”

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากศาลล้มละลายเห็นชอบมีคำสั่งให้บริษัท สินมั่นคงฯ ฟื้นฟูกิจการ หลังจากนั้น บริษัท สินมั่นคงฯ (ลูกหนี้) จะต้องจัดประชุมเจ้าหนี้ โดยมีกรมบังคับคดีเป็นแม่งาน เพื่อเจรจาข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ คาดว่าแผนฟื้นฟู ลูกหนี้จะมีการเสนอขอลด/ตัดหนี้ (hair cut) และยืดชำระหนี้ ในส่วนของกลุ่มเจ้าหนี้กลุ่มผู้เอาประกันโควิด-19 ที่มีมูลหนี้กว่า 30,000 ล้านบาท รวมถึงการเสนอชดใช้เป็นอย่างอื่น เช่น ให้กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ (PA) ซึ่งเป็นเรื่องการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้

การยื่นฟื้นฟูภายใต้กฎหมายล้มละลายจะทำให้บริษัทสามารถเจรจาตกลงกับเจ้าหนี้ได้ง่ายขึ้น และหากไปถึงขั้นที่ศาลเห็นชอบแผนฟื้นฟูแล้ว เจ้าหนี้ทุกคนก็ต้องยอมรับตามคำสั่งศาลทั้งหมด ซึ่งสิ่งที่บริษัทต้องการก็คือลดหนี้สินไหม จากที่จ่ายคนละ 70,000-100,000 บาท ลดลง พร้อมกับยืดหนี้ออกไป

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ก็มีโอกาสที่บริษัทจะหาเงินเพื่อมาชำระหนี้ แต่หากเจ้าหนี้คัดค้านไม่ยอมให้ฟื้นฟูกิจการ บริษัทก็อาจต้องยอมล้มละลายปิดกิจการ ซึ่งแนวทางนี้ก็อาจทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายมากกว่า เพราะโอกาสที่จะได้รับการชำระหนี้คืนก็จะยาวนานเช่นกัน

ดึงประกันต่างชาติใส่เงินเพิ่มทุน

แหล่งข่าววงการประกันวินาศภัยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นสำคัญในการฟื้นฟูกิจการคือ การปรับโครงสร้างหนี้และการหาผู้ลงทุนใหม่เข้ามา ทั้งนี้ ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมปรับลดหนี้-ยืดหนี้แบบยาว ๆ หลายปี ในส่วนของผู้ร่วมทุนใหม่ก็คงไม่ยอมใส่เงินเข้ามา และโอกาสที่ธุรกิจของสินมั่นคงจะไปต่อก็ยาก

“ตอนนี้บริษัทมีการพูดคุยกับผู้ลงทุนใหม่ไว้แล้ว แค่รอให้ตัวเลขกรมธรรม์โควิดนิ่งก่อน แต่พอจบแล้วแผลใหญ่เกินไป คือยอดเคลมสูงมาก ทำให้ผู้เพิ่มทุนชะลอใส่เงิน เบื้องต้นทราบว่ามีการคุยบริษัทประกันต่างชาติหลายราย มีทั้งญี่ปุ่นและฝรั่งที่มีความสนใจ ซึ่งถ้าผู้ลงทุนใหม่ใส่เงินมาก็คาดว่าจะถือหุ้นเกือบ 100% เจ้าของเดิมแทบไม่เหลือหุ้น แต่คงให้อยู่ช่วยบริหาร ซึ่งตอนนี้ช้าไม่ได้เพราะความเชื่อมั่นจะเสีย กลัวลูกค้าใหม่จะไม่เข้ามา”

แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ดี แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ในแง่ของการดำเนินธุรกิจต่อไปก็ยาก เพราะความเชื่อมั่นหาย ยิ่งนานไปจะไม่มีลูกค้าใหม่เข้ามา ยิ่งไม่มีรายได้เข้ามา ซึ่งยิ่งช้าก็ยิ่งโอกาสสำเร็จยาก ยกเว้นว่าได้ผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามา ที่คาดหวังจะได้พอร์ตลูกค้าประกันรถยนต์ และประกันเสี่ยงภัยอื่น ๆ ของบริษัท แต่หากเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับผู้เอาประกันโควิดไม่สำเร็จ โอกาสที่ผู้ลงทุนใหม่จะเข้ามาใส่เงินก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน

เจ้าหนี้นัดรวมพลยื่นคัดค้านฟื้นฟู

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย ซึ่งทำให้บริษัทได้รับความคุ้มครองในการ “พักชำระหนี้” ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทำให้กลุ่มเจ้าหนี้ผู้เอาประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” ที่มีการรวมตัวกันในเพจต่าง ๆ อาทิ เพจรวมตัวฟ้องสินมั่นคงหากยกเลิกประกันโควิด, เพจเคลมประกันโควิค (สินมั่นคงประกันภัย) ฯลฯ ขณะนี้ได้มีการเชิญชวนไปยื่นคัดค้านการฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลาง ในวันจันทร์ที่ 23 พ.ค. 2565

โดยผู้เอาประกันจำนวนมากแสดงความคิดเห็นว่า บริษัทไม่มีความรับผิดชอบ และเกรงว่าถ้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จะทำให้เจ้าหนี้กลุ่มนี้ไม่ได้รับเงินค่าสินไหม หรืออาจจะทำให้จะต้องใช้เวลา 5-7 ปี ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟู และหลายคนมองว่าการฟื้นฟูจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้ (สินมั่นคง) มากกว่า แต่เจ้าหนี้จะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์

ซึ่งตามกฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้เอาประกันในฐาน “เจ้าหนี้” มีสิทธิคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้

ปิดกิจการเจ้าหนี้รอคิวสิบปี

แหล่งข่าวกล่าวว่า ถ้ากรณีกระบวนการฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จ หรือไม่ได้เข้าฟื้นฟูต้องปิดกิจการจะเสียหายต่อเจ้าหนี้มากกว่า เพราะภาระหนี้ 30,000 ล้านบาท จะตกไปที่กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ซึ่งไม่รู้ว่ากี่สิบปี ผู้เอาประกันถึงจะได้เงินคืน

เพราะตอนนี้กองทุนมีภาระที่ต้องชำระบัญชีให้กับ 4 บริษัทประกันที่ถูกปิดกิจการไปแล้ว มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ประมาณ 3 แสนเคลม ขณะที่ปัจจุบันกองทุนมีเงินเหลืออยู่ 4-5 พันล้านบาทเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะชำระบัญชี ขณะที่กองทุนยังไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้จากหน่วยงานใดเลย

ฉะนั้นถ้าสินมั่นคงประกันภัยต้องปิดกิจการ ก็จะทำให้ภาระหนี้ของกองทุนเพิ่มเข้ามาอีก 3 หมื่นล้านบาท กลายเป็น 5-6 หมื่นล้านบาท โดยมียอดเคลมที่ต้องจ่ายเพิ่มอีก 3.5 แสนรายการ ทำให้เคลมสะสมกลายเป็น 5-6 แสนรายการ

ขณะที่ระบบการอนุมัติชำระหนี้ของกองทุนปัจจุบันมีความล่าช้ามาก พิจารณาเคลมได้แค่ 1,000 เคลม/เดือน เท่ากับ 1 ปีพิจารณาได้ 12,000 เคลมเท่านั้น ขณะที่มีเคลมสะสม 5-6 แสนรายการ ถ้าทำงานแบบเดิมก็ต้องใช้เวลากี่ปีกว่าจะชำระบัญชีเสร็จ ฉะนั้นกองทุนต้องปรับวิธีทำงานใหม่ แม้ว่ากองทุนจะชี้แจงว่ามีเจ้าหน้าที่ทำงานเพียงแค่ 10 คนก็ตาม

กระทบลูกค้าประกันรถยนต์

ด้านแหล่งข่าวสมาคมประกันวินาศภัยไทยกล่าวว่า กรณีที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย ทำให้บริษัทได้รับความคุ้มครองในการพักชำระหนี้

ในกรณีนี้คาดว่าจะสร้างความเดือดร้อนแก่บริษัทประกันอื่นด้วย และลูกค้า nonCOVID ของสินมั่นคงฯที่เกิดเคลมในช่วงนี้ เพราะอยู่ในนิติบุคคลเดียวกัน โดยเฉพาะการประกันภัยรถยนต์ หากลูกค้าประกันรถของสินมั่นคงฯเกิดชน ต้องนำรถเข้าอู่ซ่อม ทางอู่อาจจะไม่รับซ่อมเพราะกลัวเบิกเงินเคลมจากบริษัทไม่ได้

ส่วนกรณีรถที่ทำประกันสินมั่นคงฯ ชนรถที่ทำประกันกับบริษัทอื่น ประกันคู่กรณีก็จะต้องไปเรียกร้องจากสินมั่นคงฯ หลังจากซ่อมรถให้ลูกค้าแล้ว ก็จะเกิดหนี้ระหว่างกัน ซึ่งบริษัทประกันก็ต้องไปเรียกเงินจากสินมั่นคงฯ ถ้าเรียกได้ก็จบ แต่ถ้าไม่ได้ต้องดูเงื่อนไข หรือสุดท้ายอาจจะเป็นหนี้สูญไปเลย

อู่ปฏิเสธประกัน “สินมั่นคงฯ”

แหล่งข่าวดีลเลอร์รถยนต์รายใหญ่ใน กทม.เปิดเผยว่า กรณีที่สินมั่นคงฯได้รับความคุ้มครองในการพักชำระหนี้ ทำให้ตอนนี้ทั้งอู่สีและศูนย์บริการรถหลาย ๆ ค่าย ปฏิเสธการรับเคลมรถที่ทำประกันกับสินมั่นคงฯ เพราะเกรงว่าจะไม่สามารถเรียกเก็บค่าซ่อมจากบริษัทได้

“อย่างไรก็ตาม ถ้ารถประกันสินมั่นคงฯเป็นฝ่ายถูก และคู่กรณีเป็นประกันภัยค่ายอื่นที่ไม่ใช่สินมั่นคงฯ หรืออาคเนย์ฯ ก็พร้อมเคลมให้เพราะเชื่อว่าในกรณีนี้จะสามารถเรียกเก็บค่าซ่อมได้ แต่ก็มีหลายศูนย์เลือกไม่รับเคลมเพื่อป้องกันปัญหาที่ตามมา”

นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส ประธานบริหารบีอาร์จีกรุ๊ป ผู้นำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศรายใหญ่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีลูกค้าสินมั่นคงฯตอนนี้ปฏิเสธการซ่อมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผิดหรือถูก แต่ถ้าลูกค้ายอมสำรองจ่ายก็พอให้บริการ โดยจะจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ไว้ให้เพื่อลูกค้าไปดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหม หรือค่าซ่อมต่อจากบริษัทเอง

“เพราะเคลมเก่ายังค้างจ่ายอยู่ระดับหนึ่ง ตอนนี้คงต้องบอกกับลูกค้าตรง ๆ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจ”