ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเฟดเริ่มมาตรการลดขนาดงบดุลแล้วเมื่อวานนี้

ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/6) ที่ระดับ 34.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (1/6) ที่ระดับ 34.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.1 ในเดือน พ.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าดัชนีร่วงลงสู่ระดับ 54.5 จากระดับ 55.4 ในเดือน เม.ย. ดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ในวันนี้แล้ว ตามมติในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว เฟดมีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 0.75-1.00% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี

นอกจากนี้ เฟดยังเปิดเผยแผนทยอยปรับลดขนาดงบดุล โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน มิ.ย. ซึ่งงบดุลดังกล่าวประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) ทั้งนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือน โดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม และตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม

สำหรับปัจจัยในประเทศ นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 17 ในเดือน พ.ค. 65 ภายใต้หัวข้อ “เงินเฟ้อกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร” โดยผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่า ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากผลกระทบของวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย

และปัญหา Supply chain disruption เป็นปัจจัยหลักที่เร่งให้ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งจากราคาวัตถุดิบและพลังงาน รวมทั้งกดดันกำลังซื้อภาคครัวเรือนให้ลดลงอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.คาดว่าตลอดทั้งปี 2565 อัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ที่ระดับ 4-5% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.355-34.42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (2/6) ที่ระดับ 1.0657/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อพุธ (1/6) ที่ระดับ 1.0724/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังเอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของฝรั่งเศส ลดลงสู่ระดับ 54.6 ในเดือน พ.ค. จากระดับ 55.7 ในเดือน เม.ย. และทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของฝรั่งเศสยังคงขยายตัว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0645-10695 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0688/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/6) ที่ระดับ 129.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (1/6) ที่ระดับ 129.32/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 129.71-130.24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 129.72/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ค. (2/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.70/-1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.3/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ