หุ้น “เปิดเมือง-ส่งออก” ประคองตลาด สู้แรงกดดันเงินเฟ้อ

หุ้น-โรงแรม-ส่งออก

โบรกเกอร์ “ฟิลลิป” คาดตลาดหุ้นไทยวันนี้แกว่งตัวออกด้านข้างไปไหนได้ไม่ไกลในกรอบ 1,640-1,655 จุด แรงหนุนความหวังการเปิดเมือง-ส่งออกดีจากแนวโน้มบาทอ่อนค่า ช่วยประคับประคองย่อตัวตลาด สู้แรงกดดันเงินเฟ้อ คาด กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยระดับเดิมต่อไปก่อนในการประชุมวันพรุ่งนี้

วันที่ 7 มิถุนายน 2565 บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ว่า คาดจะแกว่งตัวออกด้านข้างในกรอบ 1,640-1,655 จุด โดยมีปัจจัยบวก
ด้านความหวังการเปิดเมือง/เปิดประเทศ และการส่งออกจากแนวโน้มบาทอ่อนค่าช่วยประคับประคองการย่อตัวของตลาด จากแรงกดดันหลักในประเด็นเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ที่เร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 14 ปี ที่ 7.1% YOY ซึ่งสูงกว่าตลาดคาดมาก

เป็นผลจากฐานที่ต่ำและต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูง จึงทำให้ตลาดกลับมากังวลในท่าทีของ กนง.อีกครั้ง (ประชุม 8 มิ.ย.65) โดยวานนี้หุ้นในกลุ่มการเงินปรับตัวลงค่อนข้างมากจากความกังวลในการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว โดยรวมจึงคาดวันนี้ SET Index จะแกว่งตัวออกด้านข้างไปไหนได้ไม่ไกล และยังวนเล่นหุ้นในกลุ่มเดิมคือ หุ้นกลุ่มเปิดเมืองเปิดประเทศ กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเงินเฟ้อ หรือได้รับผลกระทบน้อย และกลุ่มบาทอ่อนต่อไป

กลยุทธ์การลงทุน เก็งกำไรใน 1.หุ้นในกลุ่มการเงินที่ยังมีพื้นฐานดีหลังราคาปรับลงมากท่ามกลางความกังวลการปรับนโยบายการเงินของ กนง. อย่างไรก็ดี ทางฝ่ายยังคาด กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยระดับเดิมต่อไปก่อนในการประชุมวันพรุ่งนี้ เพื่อลดแรงกดดันด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นตามการเปิดเมือง/เปิดประเทศ โดยในกลุ่มการเงิน ทางฝ่ายยังชอบ AMANAH และ 2.หุ้นกลุ่มพลังงาน ตามแนวโน้มทิศทางราคาน้ำมันที่ยังเป็นขาขึ้น เช่น PTTEP, TOP, SEAOIL และ 3.หุ้นเปิดเมือง/เปิดเทอม เช่น SISB, BEM, BEC และ 4.หุ้นบาทอ่อน เช่น CPF, TFG, GFPT

ทั้งนี้การปรับดัชนี FTSE มีผล 20 มิ.ย.นี้ ซึ่งมีหุ้นปรับเข้า-ออก ดังนี้ 1.FTSE Large Cap มีหลักทรัพย์เข้าใหม่ คือ JTS ตัดออก คือ BTS และ 2.FTSE Mid Cap มีหลักทรัพย์เข้าใหม่คือ AAV, BYD, BTS, FORTH, NEX, SABUY และ ONEE ตัดออก คือ JTS (ไปเข้า Large Cap) และ IMPACT 3.FTSE Shariah มีหุ้นเข้าใหม่กว่า 21 หลักทรัพย์ และตัดออกกว่า 10 หลักทรัพย์ คาดประเด็นนี้จะเข้ามาสร้างความผันผวนให้กับตลาดในหุ้นรายตัวที่ถูกปรับเข้า-ออกได้

ส่วนวิกฤตอาหาร ถือเป็นโอกาสของไทย แม้ดัชนี FAO Food Price Index ในเดือน พ.ค. จะปรับตัวลง 1.6% จากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 157.4 จุด หลังน้ำมันพืชปรับตัวลงจากที่อินโดนีเซียกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มตามปกติ แต่ส่วนประกอบที่น่าสนใจ คือสัดส่วนดัชนีราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อน 0.5% ทำ All time high สะท้อนอุปสงค์ในเนื้อสัตว์ที่แข็งแกร่ง

ขณะที่อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ทำให้มีผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ จึงมองเป็นโอกาสในภาคส่งออกอาหารของไทยที่จะยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ไทยอยู่ในอันดับ 4 ในฐานะผู้ส่งออกเนื้อไก่มากที่สุด รองจากสหรัฐ, บราซิล และจีน