ราคาน้ำมันดิบลด จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

– ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงหลังแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี โดยได้รับแรงกกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มมากขึ้น และความกังวลว่าความต้องการใช้น้ำมันเบนซินอาจปรับตัวลดลงในช่วงฤดูหนาว

– สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงาน ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

+ Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 5 ม.ค. 61 ปรับตัวลดลง 5 แท่น มาอยู่ที่ 742 แท่น

+ นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังคงได้รับแรงหนุนจากการร่วมมือของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่ขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตออกไปถึงสิ้นปี 61 รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบในอิหร่านที่ยังคงทวีความรุนแรงหลังประชาชนไม่พอใจนโยบายด้านเศรษฐกิจและปัญหาทุจริตคอรัปชั่นภายใต้รัฐบาลของนายฮัสซัน โรฮานี

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ และสิงคโปร์ ที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอุปสงค์จากสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงในช่วงฤดูหนาว

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันดีเซลยังคงได้รับแรงหนุนจากจากแรงซื้อจากเวียดนาม และอุปสงค์ที่แข็งแกร่งเพื่อใช้ทำความร้อนในช่วงฤดูหนาว

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 59 – 64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 66 – 71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาสถานการณ์การประท้วงที่ประเทศอิหร่าน หลังประชาชนไม่พอใจกับการทำงานของรัฐบาล เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และการปกครองของประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี และเหล่าผู้นำทางศาสนา ซึ่งเหตุการณ์นี้นำมาสู่การเข้าจับกุมผู้ประท้วงจำนวนหนึ่ง สร้างความไม่พอให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยทางรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาแถลงการณ์ประณามเหตุจับกุมดังกล่าวและสนับสนุนผู้ประท้วงชาวอิหร่านในการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน และต่อต้านคอร์รัปชัน ทำให้หลายคนกังวลว่าเหตุการณ์นี้อาจนำไปสู่การคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน การประท้วงไม่ได้กระทบต่อการผลิต และการส่งออกน้ำมันแต่อย่างใด

ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากสหราชอาณาจักร และลิเบียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากท่อขนส่งน้ำมันดิบ Forties Pipeline System กำลังการขนส่ง 450,000 บาร์เรลต่อวัน กลับมาดำเนินการตามปกติ หลังพบรอยร้าว และต้องปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ท่อขนส่งน้ำมันดิบในลิเบียที่ขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบของบริษัท Waha Oil ไปยังท่าเรือ Es Sider สามารถกลับมาดำเนินการอีกครั้งเช่นกัน หลังจำเป็นต้องลดกำลังการขนส่งลงราว 70,000-100,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากถูกโจมตีโดยผู้ก่อความไม่สงบภายในประเทศ