คดีอุทลุม คืออะไร ? ลูกฟ้องพ่อแม่ทางแพ่ง/อาญา ได้หรือไม่ ?

คดีอุทลุมคืออะไร
ภาพจาก pexels

ทำความรู้จัก “คดีอุทลุม” เมื่อบุตรมีความประสงค์จะฟ้องบิดามารดาคดีแพ่งหรืออาญา สามารถทำได้หรือไม่ ? 

วันที่ 26 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก “มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ Watchdog Thailand Foundation – WDT” โพสต์ข้อความระบุว่า ลูกสาวรายหนึ่งแจ้งเรื่องร้องเรียน ขอให้ช่วยดำเนินคดีกับพ่อของตน อ้างว่าพ่อขโมยแมวสุดรักไปปล่อยทิ้ง พบอีกทีกลายเป็นศพเพราะถูกรถชนตาย จึงต้องการให้พ่อได้รับโทษ เกรงไปแจ้งความด้วยตนเอง แล้วตำรวจจะให้ไกล่เกลี่ย ยืนยันอยากให้เป็นบทเรียนของพ่อว่าอย่าทำแบบนี้กับใครอีก

หลังจากทางเพจโพสต์เรื่องราวไป มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเข้ามาคอมเมนต์อธิบายในฝั่งของพ่อ ระบุว่า จริง ๆ ลุงแกจะเอาแมวไปปล่อยวัด เพราะน้องแมวมาขโมยของกิน ลุงแกใจหนึ่งก็โมโหลูกสาวว่าเอาแมวมาไว้ ทั้ง ๆ ที่พ่อกับแม่ก็ลำบาก โดยที่ตัวลูกเองอยู่คอนโดหรูแล้วแมวยังมาขโมยของกินอีก

แกจึงคิดจะนำแมวไปปล่อยที่วัด เอาแมวขึ้นรถพ่วงข้างไป พอไปถึงครึ่งทาง น้องแมวกระโดดลงจากรถ แล้วถูกรถชน ลุงแกก็ตกใจ วนรถไปรับน้องแมวกลับมา คิดจะพาไปหาหมอ แต่น้องแมวไม่หายใจแล้ว แกกลัวลูกจะด่า เลยตัดสินใจทิ้งศพน้องแมวไว้ข้างทาง แล้วกลับบ้านไป ไม่กล้าบอกใคร จนกระทั่งมีคนโพสต์หาเจ้าของแมว

แกไม่ได้ทำร้ายน้องแมว หรือมีเจตนาที่จะให้แมวบาดเจ็บแต่อย่างใด แต่แกแค่ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

 

เรื่องราวดังกล่าวนำไปสู่การพูดถึง “คดีอุทลุม” ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดข้อห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดี ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้ให้ข้อมูลไว้ ดังนี้

คดีอุทลุมคืออะไร ?

ตามขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีของไทย ลูกหลานจะต้องมีความกตัญญูรู้คุณบิดามารดาและบุพการีของตน กฎหมายจึงกำหนดข้อห้ามไว้ดังนี้

ในกรณีของบิดา แม้บิดาถือเป็นบุพการีของบุตรก็ตาม แต่การเป็นบิดานั้นต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรด้วย ถึงจะเป็นคดีอุทลุม ดังนั้นหากเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้บิดาให้การรับรองบุตรแล้วก็ตามก็ไม่เป็นบุพการีในความหมายของคดีอุทลุม สามารถฟ้องบิดาได้ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย

  • ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ตาม ซึ่งเรียกว่าคดี “อุทลุม” ผู้นั้นจะฟ้องบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ชวด ที่สืบสายโลหิตโดยตรงของตนไม่ได้
  • แต่หากผู้นั้นมีความประสงค์ที่จะฟ้องบุพการีของตนจริง ๆ ผู้นั้นเองหรือญาติสนิทของผู้นั้นจะต้องร้องขอให้อัยการเป็นผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่บุพการีเป็นฝ่ายฟ้องเป็นคดีแต่อย่างใด