ค่าฝุ่นละออง กทม.วันนี้เกินมาตรฐาน! แนะ ปชช.ไม่ควรอยู่นอกอาคาร สวมผ้าปิดจมูก

ถ่ายวันที่ 24-01-2018 ย่านพระราม 4

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 24 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่ช่วงเช้า พบว่า มีอากาศขะมุกขมัวราวกับฝนจะตก แต่เมื่อตรวจสอบกับแอปพลิเคชั่นคุณภาพอากาศทั่วโลก พบว่า มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (pm 2.5) เกินค่ามาตรฐานค่อนข้างสูง อาทิ บริเวณพื้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีค่าฝุ่นละอองเฉลี่ย 162 ไมโครกรัม/ลูกบาศ์กเมตร (มคก./ลบ.ม.) การเคหะชุมชนดินแดง มีค่า 152 มคก./ลบ.ม. กรมประชาสัมพันธ์ มีค่า 196 มคก./ลบ.ม. ซึ่งค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม.

เมื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศของเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ยังไม่มีรายงานค่าดัชนีคุณภาพอากาศ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนแต่อย่างใด ทำให้ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศที่สูงกว่าค่ามาตรฐานตามองค์การอนามัยโลกแนะนำ

โดยข้อมูลคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ มีเพียงให้ตรวจสอบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก ชนิดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เท่านั้น และพบว่า แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ มีค่าฝุ่นสูงถึง 137 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเกินค่ามาตรฐานจาก 120 มคก./ลบ.ม. ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะต่อระบบทางเดินหายใจ

จากข้อมูลสถานการณ์มลพิษภายรวมของประเทศไทยในปี 2560 ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 25 ไมครอน (pm 2.5) ตรวจวัดได้ในช่วง 2-116 มคก./ลบ.ม. โดยค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. ทั้งนี้ มีเกินมาตรฐาน 13 จังหวัด จาก 18 จังหวัดที่มีการตรวจวัด โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยรายปี 28 มคก./ลบ.ม. และมีค่าสูงสุดถึง 95 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเกินมาตรฐานค่าฝุ่นละออง

สำหรับคุณภาพอากาศมีเกินค่ามาตรฐาน แนะนำว่า ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังภายนอกอาคาร ส่วนบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ไม่ควรทำกิจกรรมภายนอกอาคารเป็นเวลานาน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากหรือใช้ผ้าปิดจมูก ประชาชนทั่วไปขอให้ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามข้อแนะนำจากภาคราชการ และหากเกิดอาการเจ็บป่วยควรปรึกษาแพทย์

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า สถานการณ์มลพิษทางอากาศ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วันที่ 24 มกราคม 2561 ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ (ค่ามาตรฐาน 50 มคก/ลบม.) ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ณ 12.00 น. ณ วันที่ 24 มกราคม 2561 อยู่ในช่วง 54-85 มคก./ลบ.ม. สูงสุดที่ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี สมุทรปราการ 59-71 มคก./ลบ.ม. และสมุทรสาคร 114 มคก./ลบ.ม. สำหรับผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM10 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐาน 120 มคก/ ลบม.) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลักของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ การจราจร รองลงมาคืออุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ประกอบกับเกิดสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ปรากฏการณ์นี้จะพบเป็นบางวันในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับ PM 2.5 สูงขึ้นผิดปกติในช่วงนี้

นางสุณี กล่าว่า จากข่าวที่แชร์ในเว็บเพจต่างๆ ซึ่งเป็นรูปจากเว็บไซต์ http://aqicn.org/ ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เว็บไซต์ดังกล่าวใช้ค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมง เทียบกับดัชนีคุณภาพอากาศของ U.S. EPA ซึ่งต้องใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในการเทียบ จึงทำให้การรายงานดัชนีคุณภาพอากาศของเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ในช่วงสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) ข้อเท็จจริง หากใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะอยู่ในเกณฑ์สีส้ม (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ระบบทางหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร และขอความร่วมมือเจ้าของยานพาหนะ ดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีและไม่ปล่อยควันดำ และถ้าเป็นได้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนก็จะช่วยสถานการณ์และลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ได้

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์