“ลดเหลื่อมล้ำ” ทางรอดวิกฤตเศรษฐกิจ แนะแก้ภาษี-การศึกษา-สาธารณสุข

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

เกาะขอบเวทีสัมมนาแห่งปีหัวข้อ “ท้าชน Perfect Storm ทางรอดเศรษฐกิจไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชนและมติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ณ โรงแรมเรอเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ และเป็นอีกครั้งที่นักธุรกิจระดับประเทศ “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาหัวข้อ “จับทิศเศรษฐกิจ-สังคมไทย ในพายุวิกฤต” สรุปสาระสำคัญดังนี้

แนะตั้งรับนักท่องเที่ยวเกิน 10 ล้านคน

ในส่วนตัวผมเข้าใจว่าผมถูกเชิญมาในฐานะคนไทยคนหนึ่ง มาในฐานะหุ้นส่วนของประเทศ มีประสบการณ์ในวงการธุรกิจและได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในภาวะวิกฤตพอสมควร แผนระยะยาว ทางรัฐบาล หน่วยงานรัฐวางแผนกันไปพอสมควร แต่มีคอขวดหรือ Pain Point 2-3 เรื่อง

จะชอบหรือไม่ชอบ นักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เข้ามาในประเทศไทย จีนยังไม่ได้เปิดประเทศอย่างเต็มตัว การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศก็เป็น growth engine ตัวเดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในช่วงนี้ เพราะฉะนั้น เขาจะต้องพยายามทำทุกวิถีทางปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวจีนออกมา แต่ปรากฏการณ์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีข่าวลือเรื่องการปฏิวัติ

เพราะฉะนั้นอาจมีการกดดันให้เปิดประเทศ เพราะจริง ๆ แล้ว Zero COVID Policy ของประเทศจีน เป็นอะไรที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แม้ (ผู้สูงวัย) 250 ล้านคนยังไม่ฉีดวัคซีน แต่เรื่องของภูมิคุ้มกันหมู่ก็เกิดขึ้นมาแล้ว ผมเชื่อว่าปลายปีนี้ ต้นปีหน้า ยังไงก็ต้องเปิด

ในแง่การท่องเที่ยว ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวจีน ผมอยากจะวิงวอนให้ภาครัฐคิดล่วงหน้าเลยว่า หากประเทศจีนเปิดจะทำอย่างไร

เรื่องเปิดฟรีวีซ่าสำหรับชาวจีนก็อาจมีคำพูดว่าจะมีปัญหาต่อความมั่นคงหรือเปล่า ผมอยู่ในภาคเอกชน ผมไม่เข้าใจว่าปัญหาเรื่องความมั่นคงจะเกิดได้อย่างไร ผมเข้าใจว่าจะมีแต่ความมั่งคั่งมากกว่า อยากเรียกร้อง ถ้าเป็นไปได้อยากเปิดฟรีวีซ่าให้คนจีนเข้ามา แต่ถ้ากังวลเรื่องความมั่นคง พบกันครึ่งทางได้ไหม คนที่เคยได้รับวีซ่าแล้ว สามารถอนุมัติให้เข้ามาเลยได้ไหม เขาจะได้ไม่ต้องเสียเวลาอีก

เรื่องสุดท้าย ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นการท่องเที่ยว แต่ว่า bottom next อยู่ที่การนำนักท่องเที่ยวเข้ามา การ feeder เข้ามา ผมไปอังกฤษเมื่อกลางเดือนกันยายน 2565 ค่าเครื่องไปกลับชั้นอีโคโนมี 1 แสนบาท ชั้นบิสซิเนส 3 แสนบาท ต่อให้อั้นขนาดไหน อยากขนาดไหน แต่ถ้าราคาเครื่องบินมันสูงขนาดนี้ ผมก็คิดหนักนะ

เราต้องพยายามเพิ่ม supply ของ feeder เข้ามาโดยเร็ว เรื่องของการบินไทยอาจมีการหลีกเลี่ยงไม่พูดถึง เพราะสถานภาพที่กำลังฟื้นฟูกิจการ เครื่องบินจอดอยู่เยอะแยะ ทำไมไม่เอามาบิน หรือทำไมไม่เอาเครื่องบิน 380 ที่นั่ง รองรับได้เยอะ ๆ ไปรับนักท่องเที่ยวเข้ามา

ในฐานะนักธุรกิจ เราชอบ เราอยากเห็นรัฐบาล ผู้นำประเทศที่ต้องทำให้ได้ ถ้าเกิดเครื่องบินไทยไม่สามารถบินได้ ทำไมไม่ไปเช่าเครื่องมาเพื่อไปรับนักท่องเที่ยวตาม key destination ถ้าเกิดมี fedder เข้ามาจริง ๆ ผมเชื่อว่าการท่องเที่ยวไทยไปได้เกิน 10 ล้านคนแน่นอน

ความเหลื่อมล้ำ-จุดเปราะบาง ศก.ไทย

เศรษฐกิจภาพใหญ่ “เศรษฐา” กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เห็นชัดมากยิ่งขึ้นในช่วงโควิด 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ค่าเงินบาทอ่อน 36-37 แตะ 38 บาทกว่า ๆ เงินบาทอ่อนเกินไปหรือเปล่า

อยากให้ย้อนไปดูปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง เงินบาทอ่อนค่ากว่าตอนนี้เยอะ แต่ก็รีคัฟเวอร์กลับมาอย่าง V-shape เพราะการส่งออก การท่องเที่ยวดีแน่นอน แต่เรื่องหนึ่งที่ยุคปี’40 เราไม่ได้เจอคือหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของสังคมไทยในปัจจุบัน ขึ้นไปสูงมาก ทำให้กดกำลังซื้อ ทำให้ความเป็นอยู่ไม่ดี

การเกิดเงินเฟ้อ หนี้ไม่ได้เฟ้อตาม การที่ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยรายจ่ายเพิ่มขึ้น หนี้เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 6-7% ไม่ได้ทำให้หนี้เพิ่มขึ้น แต่สำคัญมากกว่านั้นคือต้องเพิ่มรายได้ให้ได้ ถ้าเพิ่มดอกเบี้ยมากเกินไปจะเป็นภาระแก่กลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยที่มีวงเงินกู้เยอะเกินไป

เก็บภาษีคนรวย ทำถูกต้องเหนือถูกใจ

ในด้านภาษี “เศรษฐา” เปิดมุมมองว่า ภาษีเป็นเครื่องมือทางการคลัง ซึ่งนำความเสมอภาคในทางสังคม เมื่อคุณใช้ทรัพยากรของประเทศเยอะ มีความมั่งคั่งเยอะ ก็จ่ายภาษีเยอะ เช่น ภาษีมรดก รัฐบาลประยุทธ์ (จันทร์โอชา) มีการอิมพลีเมนต์เก็บภาษี 5% เริ่มที่ 100 ล้านบาท คำนวณต่อปี เงินภาษีมรดกเข้าสู่รัฐไม่ถึงร้อยล้าน เป็นการทำแบบสัญลักษณ์ กระทบน้อยมากในแง่รายได้ของประเทศ

การเก็บภาษีถ้าจะขึ้นหรือเปลี่ยนอัตรา ต้องเก็บกับภาคส่วนที่สามารถเก็บได้ ไม่ใช่ภาคส่วนที่เปราะบาง เช่น ภาษีตลาดหุ้น คนเล่นหุ้นคือชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง มีความสามารถถูกเก็บภาษีได้ แต่ต้องยอมรับว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะจัดเก็บภาษี capital gain tax แต่มีอีกหลายวิธีที่จัดเก็บภาษีเกี่ยวข้องกับการเล่นหุ้นได้ เช่น transaction tax เก็บทุกครั้งที่มีการซื้อขายหุ้น ไม่ว่าคุณจะได้จะเสีย เก็บนิดหน่อยเป็นจุดทศนิยม หรือเป็นเปอร์เซ็นต์ ยอดเทรดวันละ 7 หมื่นล้าน 1 วันเก็บได้ 70 ล้าน 1 ปีเทรด 200 วัน เก็บภาษีได้ 1.4 หมื่นล้าน เป็นกอบเป็นกำ

ต้องเลือกเรื่องถูกต้องกับถูกใจ บางเรื่องเราต้องมีความกล้าที่จะทำในเรื่องที่มันถูกต้องบ้าง ไม่ใช่ทำเรื่องที่ถูกใจอยู่เสมอ

ดึงเด็กไทย 2 ล้านคนกลับเข้าระบบการศึกษา

จุดโฟกัสด้านการศึกษาไทย จะใช้คำว่าด้อยค่าก็ได้ หลักสูตรไม่ดี วิธีการสอนไม่ดี ผลิตบัณฑิตออกมาไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการ ทุกคนนั่งพูดกันอยู่อย่างนี้ พูดกันไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ค่อยมีคนลุกขึ้นมาทำเท่าไหร่ สถานการณ์โควิดทำให้เด็กไทย 2 ล้านคน หลุดออกนอกระบบการศึกษา

พื้นที่ของเด็กสำคัญที่สุดต้องอยู่ในโรงเรียน แสนสิริทำ Zero Drop Out ใช้เงิน 100 ล้านบาทใน 3 ปี เพื่อดึงเด็กที่ออกนอกระบบกลับเข้ามา ทำที่ราชบุรีจังหวัดเดียว เพราะมีงบประมาณแค่นี้ ตามทฤษฎีแล้วสามารถทำให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้หมด โดยการไปจ่ายเงินให้พ่อแม่เขา จ้างพนักงานแทนที่จะให้ลูกหลานมาทำงาน ส่งเด็กเข้าไปอยู่ในโรงเรียน ให้มีการสั่งสอนที่ดี ให้เรียนเรื่องวิทยาทาน วินัย มีอาหารกลางวัน

อยากเห็นหน่วยงานหรือบริษัทใหญ่ ๆ ไปทำในจังหวัดที่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเยอะขึ้น เพราะถือว่าเป็นพื้นฐานที่นำมาสู่การพัฒนาของประเทศได้ เด็กทุกคนควรจะมีสิทธิเรียน เด็กทุกคนควรจะมีสิทธิอยู่ในระบบการศึกษา

รัฐต้องแก้ปัญหา “กินรวบสาธารณสุข”

อีกเรื่องหนึ่งที่ขออนุญาตพูด คือระบบสาธารณสุข โควิดทำให้เราได้เห็นความเหลื่อมล้ำ มันมากน้อยขนาดไหน การเข้าถึงวัคซีนและอื่น ๆ หลาย ๆ บุคคลลำบากกว่าคนบางคนที่มีเส้นสาย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่มันขมขื่น มองไปข้างหน้าในอนาคตไกล ๆ คนข้างบนจุดสูงของโมเดล K-shape สามารถดูแลตัวเขาเองได้ คนระดับล่างรัฐบาลก็เทกแคร์ได้จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค

ส่วนคนชั้นกลางน่าเป็นห่วง ยกตัวอย่าง ทำงานมา 35 ปี มีเงินสะสม 5-10 ล้านบาท สามารถส่งลูกเรียนต่อต่างประเทศ สมมติปู่ย่าตายายไม่สบายต้องเข้า ICU อยู่โรงพยาบาลเอกชน เงินเก็บ 5-10 ล้านหมดไปเลย ส่งผลไปถึงอนาคตทางการศึกษาของลูกหลาน ไม่ใช่ปัญหาทางการศึกษา แต่มองว่าเป็นปัญหาความมั่นคงของประเทศ

อยากฝากไปยังผู้ใหญ่ (รัฐบาล) ว่า การกินรวบของระบบสาธารณสุขเป็นปัญหาใหญ่