กรมอุตุฯประกาศเตือน “พายุนัลแก” ฉบับที่ 7 อุณหภูมิลดลงอีก 1-2 องศา

ประกาศเตือน พายุ “นัลแก” ฉบับที่ 7

กรมอุตุฯออกประกาศเตือนภัย ฉบับที่ 7 เรื่อง พายุโซนร้อน “นัลแก” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วจากความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากจีนแผ่ลงมาปกคลุมตอนบน ส่งผลให้ตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส กทม.เย็นสุด 20 องศา ขณะที่ภาคใต้ตอนล่างยังมีฝนฟ้าคะนองอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่าน

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เมื่อเวลา 17.00 น. นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัยลักษณะอากาศ เรื่อง พายุโซนร้อนกำลังแรง “นัลแก” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ฉบับที่ 7

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันนี้ (2 พ.ย. 65) พายุโซนร้อน “นัลแก” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 21.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 114.8 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืออย่างช้า ๆ พายุนี้มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนในวันที่ 3 พ.ย. 65 นี้

ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ในช่วงวันที่ 3-5 พ.ย. 65 ลักษณะเช่นนี้จะทำให้พายุอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 05.00 น.

ตอนบนอากาศเน็นถึงหนาว อุณหภูมิลดลงอีก 1-2 องศา

กรมอุตุนิยมวิทยายังคาดหมายอากาศทั่วไป ระหว่างวันที่ 2-7 พฤศจิกายน 2565 ว่า ในช่วงวันที่ 3-4 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว โดยอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส สำหรับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส และมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตลอดช่วง อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง “นัลแก” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนมีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ในวันที่ 3 พ.ย. 65 และจะลดกำลังลงอย่างรวดเร็ว โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย

ข้อควรระวัง : ในช่วงวันที่ 3-4 พ.ย. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลง ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 พ.ย. 65 สำหรับประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก และประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควร เดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

การคาดหมายอากาศรายภาค วันที่ 2-7 พฤศจิกายน 2565

ภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 3-4 พ.ย. 65 อากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย
โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในช่วงวันที่ 4-5 พ.ย. 65 ส่วนมากด้านตะวันตกของภาค

ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 พ.ย. 65 อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 14-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 3-4 พ.ย. 65 อากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส

ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 พ.ย. 65 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคกลาง ในช่วงวันที่ 3-4 พ.ย. 65 อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 พ.ย. 65 อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 3-4 พ.ย. 65 อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 พ.ย. 65 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส และมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 4-6 พ.ย. 65 ส่วนมากทางตอนกลางถึงตอนล่างของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 4-6 พ.ย. 65 ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส

กรุงเทพฯและปริมณฑล ในช่วงวันที่ 3-4 พ.ย. 65 อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงอีกเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 พ.ย. 65 อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส และมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง สำหรับพายุโซนร้อน “NALGAE” ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน
อธิบายภาพ : บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง สำหรับพายุโซนร้อน “NALGAE” ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน