เปิดข้อกฎหมาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย โทษหนักขนาดไหน

ทำร้ายร่างกาย ความผิด กฎหมาย

เปิดข้อกฎหมายฐานทำร้ายร่างกาย กระทำแบบไหนถึงเข้าข่ายทำร้ายร่างกาย แล้วมีโทษทางกฎหมายอย่างไร

คดีทำร้ายร่างกาย หนึ่งในคดียอดนิยมที่เป็นข่าวตามหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจทำร้ายร่างกายก็ดี บันดาลโทสะก็ดี แต่หลาย ๆ คนอาจคิดว่า ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จ่ายค่าปรับเพียงเล็กน้อย ไม่กี่ร้อยถึงพันบาทก็จบคดีได้แล้ว แต่อัตราโทษในปัจจุบัน ไม่ใช่แบบที่ว่ามาอีกแล้ว

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ดังนี้

ตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ลักษณะ 10 หมวด 2 มีการระบุความผิดฐานทำร้ายร่างกายไว้ 6 รูปแบบ และมีอัตราโทษทางกฎหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งมีการปรับปรุงแก้ไขโทษทางกฎหมาย โดยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560

มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย

อัตราโทษ : โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 296 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าความผิดนั้น มีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289

อัตราโทษ : โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ดังนี้

  1. ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
  2. เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
  3. เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
  4. หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
  5. แท้งลูก
  6. จิตพิการอย่างติดตัว
  7. ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
  8. ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน

อัตราโทษ : โทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-200,000 บาท

มาตรา 298 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 297 ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289

อัตราโทษ : โทษจำคุกตั้งแต่ 2-10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000-200,000 บาท

มาตรา 299 ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น

อัตราโทษ : โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส

อัตราโทษ : โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับกรณีการทำร้ายร่างกายหรือเหตุใดที่เกิดขึ้นจาก “บันดาลโทสะ” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ระบุว่า “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

สำหรับหลักเกณฑ์ที่ว่า ความผิดดังกล่าว เกิดขึ้นจากบันดาลโทสะหรือไม่ มีดังนี้

  1. ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
  2. การถูกข่มเหงเช่นนั้นเป็นเหตุให้ผู้กระทำบันดาลโทสะ
  3. ผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะบันดาลโทสะ

การข่มเหง หมายถึง รังแก แกล้ง หรือทำให้รู้สึกอับอาย หรือข่มเหงน้ำใจ การข่มเหงเป็นการกระทำของผู้เสียหายเอง และเป็นการกระทำของผู้เสียหายฝ่ายเดียว เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายต้องรับผิดชอบฝ่ายเดียว

การข่มเหงนั้น ต้องเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งปัญหาว่าร้ายแรงหรือไม่ ถือตามความรู้สึกของวิญญูชน แม้การกระทำนั้นจะไม่ถึงขนาดกระทำผิดกฎหมายก็ตาม แต่ถ้าวิญญูชน คือ คนทั่ว ๆ ไปที่มีฐานะอย่างเดียวกับผู้กระทำผิดมีความรู้สึกโกรธก็ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง เช่น สามีหรือภริยามีชู้ สังคมไทยถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง

การกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำความผิดเพราะความโกรธที่มาจากการข่มเหง และต้องกระทำความผิด ต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น แต่ถ้าการข่มเหงขาดตอนไปแล้ว ควรหมดโทสะได้แล้ว หากไปกระทำผิดต่อผู้นั้นอาจจะเพื่อแก้แค้น ดังนี้ ก็อ้างบันดาลโทสะไม่ได้

ตัวอย่าง

  • ผู้เสียหายตบศีรษะจำเลยก่อน จำเลยร้องห้ามก็ไม่ฟัง จำเลยจึงทำร้ายผู้เสียหาย กรณีนี้ เมื่อเป็นเรื่องร้ายแรง จำเลยก็สามารถอ้างเหตุบันดาลโทสะได้
  • ด่าว่าแม่ของผู้กระทำผิดเป็นโสเภณี เป็นการข่มเหงผู้กระทำผิดอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อน จะอ้างบันดาลโทสะไม่ได้ หรือผู้กระทำความผิดสมัครใจวิวาทกับผู้อื่น จะอ้างว่าถูกผู้อื่นข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะไม่ได้


ข้อมูลจาก สถาบันนิติธรรมาลัย, กองบังคับการปราบปราม