กทม.เปิดสงครามฝุ่น PM 2.5 ยกระดับวาระแห่งชาติ-ทำ WFH

ฝุ่น PM2.5 มาตรการ กทม.

2566 ปีแรกของการรับมือปัญหาฝุ่น PM 2.5 หรือฝุ่นจิ๋วแบบสั่งการ 100% ในเขตมหานครกรุงเทพ โดยทีมชัชชาติ

หลังจากโหมโรงด้วยโปรแกรมความร่วมมือระหว่าง “กทม.-กรุงเทพมหานคร” กับ “กกร.-กรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน” ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา

ปลูกฝังรับมือฝุ่นในโรงเรียน

ตัดไทม์ไลน์ตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา แมตช์ประชุมคณะผู้บริหาร กทม.นัดแรกของปี ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการ กทม. กำหนดทิศทางทั้งปีไว้หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการควบคุมต้นตอฝุ่นจิ๋วแบบเข้มข้น

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ถัดมา 12 มกราคม 2566 “พรพรหม วิกิตเศรษฐ์” ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ร่วมประชุมข้ามหน่วยงานกับ “กรมการขนส่งทางบก+หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” เร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นจิ๋วในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีเครื่องมือสำคัญคือแอป Traffy Fondue ซึ่งมีทั้งข้อร้องเรียนและแจ้งเหตุรถเมล์ปล่อยควันดำจากประชาชน และหารือเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับระบบ open data ของ กทม.

ปัญหาฝุ่นจิ๋วที่ถูกยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ กทม.จึงทำงานร่วมกับ “กรมควบคุมมลพิษ-กองบังคับการตำรวจจราจร” ตรวจวัดควันดำรถบนถนน บริเวณที่มีค่ามลพิษสูงในเขต กทม.-ปริมณฑล การเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแพลนต์ปูนที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นในกรุงเทพฯ กำชับให้รถราชการและรถโดยสารตรวจสภาพรถยนต์เพื่อตรวจวัดปริมาณควันดำและล้างท่อไอเสียเพื่อลดมลพิษ PM 2.5 ปีละ 2 ครั้ง ฯลฯ

ทาง กรมการขนส่งทางบก กับ ขสมก. มีแผนเพิ่มบัส-รถเมล์ EV วิ่งให้บริการประชาชน ล่าสุดมีรถร่วมบริการ EV 1,000 คัน ใน 77 เส้นทาง การใช้มาตรการภาษีด้วยการลดภาษีให้ผู้จดทะเบียนรถ EV ส่วนรถเก่า 6-10 ปีจะไม่ลดภาษีให้ เนื่องจากก่อมลพิษสูง เพื่อจูงใจและสนับสนุนให้เกิดการใช้ EV เพิ่มมากขึ้น

ปัญหาฝุ่นจิ๋วโจมตีกรุงเทพฯ เริ่มมีเค้าลางตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กทม. ซึ่งมีสถานีตรวจวัดค่า PM 2.5 จำนวน 70 สถานีทั่วกรุง พบว่ามีหมอกและฝุ่นสะสมอยู่ แต่ค่าเฉลี่ย PM 2.5 เฉลี่ย 30 มคก./ลบ.ม. ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานทั่วโลกที่ 50 มคก./ลบ.ม. โดยไม่มีจุดฮอตสปอต (จุดเผาขยะชีวมวล)

โดยศูนย์มีการรายงานผลทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประจำวัน แจ้งเตือนการคาดการณ์และสถานการณ์ฝุ่นละอองให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ โดยแอป AirBKK พยากรณ์ค่าฝุ่นจิ๋วล่วงหน้าได้ 3 วัน แสดงแผนที่ค่าฝุ่นทั้ง 50 เขต

ด้าน “ศานนท์ หวังสร้างบุญ” รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดกิจกรรม “ฝุ่นนอกรั้วโรงเรียน” เป็นหนึ่งในนโยบายด้านการศึกษา เน้นการให้ความรู้พื้นฐานกับนักเรียน มีโรงเรียนนำร่อง 34 แห่ง สังกัด กทม. 33 แห่ง โรงเรียนเอกชน 1 แห่ง

ฝุ่นจิ๋วโจมตีกรุง-รณรงค์ WFH

คนกรุงเริ่มตกใจกับปัญหาฝุ่นจิ๋ววันแรกเมื่อ 23 มกราคม 2566 โดยผู้ว่าฯชัชชาติแจ้งว่า พบฝุ่นจิ๋วเกินค่ามาตรฐาน 43 เขต เนื่องจากสภาพอากาศปิด อยู่ในช่วงฤดูหนาว ความกดอากาศสูง เพดานอากาศต่ำ ทำให้ฝุ่นแม้จะมีเท่าเดิม แต่ความหนาแน่นมากขึ้น นักวิชาการเตือนว่าควรใส่หน้ากากอนามัย N95 หรือหน้ากากอนามัยป้องกันโควิด

ที่สำคัญ ในช่วงเช้าเวลาตี 4-5 ไม่ควรออกมาวิ่งหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง เนื่องจากอากาศปิด มีฝุ่นละอองจะสะสมในช่วงเวลานั้น

ทั้งนี้ แหล่งกำเนิดฝุ่นส่วนใหญ่มาจาก 2 แหล่ง “ไอเสียรถยนต์-การเผาชีวมวล” ขณะที่ hotspot เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยพบว่าในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยมี hotspot แต่ฝุ่นจิ๋วอาจมาจากที่อื่นได้ เช่น ลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้าสู่กรุงเทพฯ เนื่องจากอยู่ในช่วงการทำเกษตรกรรม

รุ่งขึ้น 24 มกราคม 2566 กทม.ประชุมร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าค่าฝุ่นจิ๋วยังไม่เกินมาตรฐานโลก เนื่องจากอากาศยกตัวสูงขึ้น และมีลมพัด แต่ยังต้องเผชิญปัญหาการเผาในที่โล่งซึ่งเป็นที่มาของจุด hotspot ผสมฝุ่นจากเครื่องยนต์ดีเซลที่สันดาปไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดปริมาณฝุ่นสูงขึ้นได้

มีการแบ่งงานกันทำ โดย กทม.เร่งควบคุมสาเหตุการเกิดฝุ่น เช่น การเผา, จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปควบคุมการทำงานลดการเกิดฝุ่น เช่น ไซต์ก่อสร้าง โรงปูน รถบรรทุก และทำหนังสือขอความร่วมมือจังหวัดปริมณฑลให้เกิดการเผาชีวมวลน้อยที่สุด ส่วนกรมควบคุมมลพิษดูแลรถควันดำ ด้วยการปรับมาตรฐานน้ำมัน การเปลี่ยนมาใช้รถยูโร 5 เพื่อลดมลพิษ

ถัดมา 25 มกราคม 2566 กทม.ส่งสัญญาณฝุ่นจิ๋วเข้าเขตมีค่าวิกฤตและขอความร่วมมือในการทำงานที่บ้าน หรือ WFH-work from home เป็นครั้งแรก โฟกัสการรณรงค์วิธีป้องกันตนเองโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ฝุ่นลากยาวถึงเมษายน

งานนี้ “พันศักดิ์ ถิรมงคล” ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ฝุ่นจิ๋วเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นในฤดูหนาว ปี 2566 กรมคาดว่าปัญหาฝุ่นจิ๋วจะอยู่กับเราไปจนถึงเดือนเมษายน ประกอบกับอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปี 2565 เป็นปัจจัยส่งเสริมให้ปัญหาอาจรุนแรงขึ้น ในเชิงสถิติพบด้วยว่า เดือนกุมภาพันธ์มักจะมีความรุนแรงของฝุ่นจิ๋วมากที่สุด

การจัดทัพรับมือฝุ่นจิ๋ว “วรนุช สวยค้าข้าว” รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ระบุว่า เตรียมแผนรองรับ 4 ระดับ เริ่มจากระดับที่ 1 สีฟ้า ค่าไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. มี 15 มาตรการตรวจสอบและเฝ้าระวัง, ระดับที่ 2 สีเหลือง ค่า 37.6-50 มคก./ลบ.ม. เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจ, ระดับที่ 3 สีส้ม ค่า 51-75 มคก./ลบ.ม. ขอความร่วมมือทำ WFH 60% ลดงานและกิจกรรมที่เกิดฝุ่นละออง และระดับที่ 4 สีแดง ค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. จะขอความร่วมมือ WFH 100% รวมถึงการปิดโรงเรียน เป็นต้น

นอกจากนี้ กทม.ขยายคลินิกอนามัยรองรับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ จากเดิม 3 แห่งเป็น 5 แห่ง ได้แก่ คลินิกมลพิษทางอากาศ รพ.กลาง, รพ.ตากสิน, รพ.เจริญกรุงประชารักษ์, รพ.ราชพิพัฒน์ และ รพ.สิรินธร ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการได้ทันที เสียงตอบรับจากประชาชนมี 33 บริษัทเข้าร่วมทำ WFH เพื่อลดปัญหาฝุ่นจิ๋ว

ถัดมา มีการจัดกิจกรรม “Action Day PM2.5 BKK-กทม. ชวนภาคีขยับเรื่อง ฝุ่นเมือง ด้วยกัน” เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยหน่วยงานภาคีเครือข่าย Earth Hour ทั้งภาครัฐ เอกชน 44 องค์กร แสดงพลังความร่วมมือลดฝุ่น ลดปริมาณการใช้ยานพาหนะในช่วงฝุ่นวิกฤต การเหลื่อมเวลาทำงาน ใช้รถขนส่งสาธารณะมากขึ้น

ตั้งการ์ดสูง-ตรวจต้นตอถี่ยิบ

สำหรับการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ครั้งที่ 4/2566 เมื่อ 31 มกราคม 2566 ทาง กทม.สรุปสถิติดำเนินการตั้งแต่ตุลาคม 2565-31 มกราคม 2566 ตรวจแหล่งต้นตอฝุ่น 2 ครั้ง/เดือน ดังนี้

ตรวจสอบโรงงาน 1,044 แห่ง จำนวน 4,028 ครั้ง สั่งปรับปรุงแก้ไข 7 แห่ง, ตรวจแพลนต์ปูน 133 แห่ง 522 ครั้ง สั่งปรับปรุงแก้ไข 16 แห่ง, ตรวจสถานที่ก่อสร้างโดยสำนักการโยธา 399 แห่ง 392 ครั้ง สั่งปรับปรุง 1 แห่ง, ตรวจสถานที่ก่อสร้างโดยสำนักงานเขต 274 แห่ง 773 ครั้ง สั่งปรับปรุง 26 แห่ง, ตรวจถมดินท่าทราย 9 แห่ง 67 ครั้ง

ตรวจควันดำรถ 1,288 คัน สั่งปรับปรุง 10 คัน, ตรวจควันดำรถยนต์ 58,871 คัน สั่งห้ามใช้ 1,245 คัน, ตรวจรถโดยสารประจำทาง 9,269 คัน สั่งห้ามใช้ 43 คัน, ตรวจรถบรรทุก 31,072 คัน สั่งห้ามใช้ 135 คัน (ข้อมูล ณ 30 ม.ค. 66)

ในส่วน “กรมอนามัย” มีการแจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบางไปแล้วมากกว่า 1 ล้านชิ้น

และ กทม.ยกระดับฝุ่นจิ๋วในฐานะวาระแห่งชาติ จากตัวชี้วัดที่มีค่าฝุ่นจิ๋วเกิน 75 มคก./ลบ.ม. โดยวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ค่าฝุ่นจิ๋วระดับสีแดงมากกว่า 90 มคก./ลบ.ม. จำนวน 14 พื้นที่ เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด ฝุ่นเกิดการสะสมตัวมากขึ้น ถึงแม้จะได้ฝนตกเมื่อวันที่ 4-5-6 กุมภาพันธ์ เป็นตัวช่วยให้ปัญหาฝุ่นเบาบางลงชั่วคราวก็ตาม

แต่คาดการณ์ที่ปัญหาจะอยู่กับคนกรุงและคนไทยทั่วประเทศจนถึงเดือนเมษายนนี้ สงครามต่อต้านฝุ่นจิ๋วยังคุกรุ่น สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือตั้งการ์ดสูง เพื่อก้าวข้ามปัญหาไปด้วยกัน