ชัชชาติ ดูความเหมาะสมเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย โฟกัสกลุ่มโรงแรม-โรงงาน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ชัชชาติยันค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียต้องเริ่มจัดเก็บตามความเหมาะสม พร้อมโฟกัสแหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภท 3 โรงแรม โรงงาน สถานประกอบการ ยังไม่จัดเก็บบุคคลทั่วไป

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในเรื่องของค่าบำบัดนำเสียนั้น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องบำบัดน้ำเสียอยู่ปีละประมาณ 700 ล้านบาท แต่ยังไม่มีการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียมาก่อน

จึงเกิดแนวคิดว่าจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำเสียในรายใหญ่ ๆ ไม่มีการจัดเก็บกับบุคคลทั่วไป ในมุมหนึ่งของการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียในเอกชนรายใหญ่ เป็นการลดต้นทุนการเดินเครื่องบำบัดน้ำเสียของเอกชน ให้มาใช้การบำบัดน้ำเสียของ กทม. ทดแทน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนส่วนนี้ของเอกชน และเอกชนจะเต็มใจในการจ่าย

สำหรับการเริ่มจัดเก็บ คงต้องดูความเหมาะสมอีกครั้ง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับการประปานครหลวง เนื่องจากการคิดค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียจะต้องคิดตามปริมาณน้ำเข้าของการประปา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 1 แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 1.บ้านเรือนที่พักอาศัย 2.อาคารชุด หรือคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ หอพัก อัตราค่าธรรมเนียมจัดเก็บ 2 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 2 แบ่งเป็น 5 ประเภทคือ 1.หน่วยงานของรัฐ อาคารทำการของหน่วยงานรัฐ 2.มูลนิธิ ศาสนสถาน 3.โรงพยาบาลและสถานพยาบาล 4.โรงเรียน 5.สถานประกอบการที่มีการใช้น้ำไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตร อัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 3 แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1.โรงแรม 2.โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และสถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน อัตราค่าธรรมเนียม 8 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

โดยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจะเริ่มจัดเก็บในแหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 3

“อย่างที่บอกว่า เราไม่ได้จะไปสร้างภาระอะไรต่อประชาชน แต่เราต้องการให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด และให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากที่สุด” นายชัชชาติกล่าว