ประกันสังคม ม.33-39-40 ผู้ประกันตนแต่ละประเภท มีสิทธิต่างกันอย่างไร?

ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมาตรา 33, 39, 40 เคยรู้บ้างไหมว่า เงินสมทบที่เราจ่ายไปทุกเดือนนั้นจะได้อะไรกลับมาบ้าง ? วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตนทุกมาตรามาไว้ให้แล้วในบทความนี้

รู้จักหลักการของระบบประกันสังคม

“ประกันสังคม” หรือระบบกองทุนประกันสังคม เป็นโครงการที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงและเป็นหลักประกันให้กับสมาชิก โดยออกเงินสมทบเข้าเป็นกองทุนกลางที่มีผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล ออกเงินสมทบร่วมกัน เพื่อเป็นการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขในกลุ่มสมาชิก

ระบบกองทุนประกันสังคม
ภาพจากสำนักงานประกันสังคม

ทำไม ? คนวัยทำงานต้องมีประกันสังคม

“ประกันสังคม” ถือเป็นหลักประกันในการดำเนินชีวิตของคนทำงาน ช่วยลดภาระความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล การคลอดบุตร ทุพพลภาพ ว่างงาน สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และเสียชีวิต ซึ่งผู้ประกันตนที่มีประกันสังคมจะได้รับการดูแลและทดแทนรายได้เมื่อเจ็บป่วยหรือต้องการไปหาหมอ หรือได้รับการทดแทนค่าใช้จ่ายตามเหตุ สอดคล้องกับข้อกำหนดในการใช้สิทธิประกันสังคมทั้งหมด

ผู้ประกันตน ประกันสังคม

ประกันสังคม มีผู้ประกันตน 3 ประเภท

ผู้ประกันตนภาคบังคับ มาตรา 33 พนักงานเอกชนทั่วไปหรือมนุษย์เงินเดือน ต้องจ่ายเงินประกันสังคมทุกเดือน โดยถูกหักจากเงินเดือนประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ (สูงสุดหักไม่เกิน 750 บาท) นอกจากนั้น นายจ้างต้องจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมในอัตราเดียวกันด้วย

ซึ่งมาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี คือ เจ็บป่วย, อุบัติเหตุ, ทุพพลภาพ, คลอดบุตร, สงเคราะห์บุตร, ชราภาพ, เสียชีวิต และว่างงาน

ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 39 เคยเป็นพนักงานแต่ลาออก หรือบุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออก แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 แทน การสมัครประกันสังคมในกลุ่มนี้ มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน อีกทั้งต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ

ผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือ เจ็บป่วย, อุบัติเหตุ, ทุพพลภาพ, คลอดบุตร, สงเคราะห์บุตร, ชราภาพ และเสียชีวิต

ผู้ประกันตนมาตรา 40

ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 40 เป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 ผู้ที่จะสมัครประกันสังคมในมาตรา 40 ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี ผู้สมัครสามารถเลือกสิทธิประโยชน์ได้ ซึ่งมีให้เลือก 2 ทางเลือก ประกอบด้วย

ทางเลือกที่ 1 (จ่ายเงินสมทบเดือนละ 70 บาท) ได้รับสิทธิประโยชน์ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต

ทางเลือกที่ 2 (จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท) ได้รับสิทธิประโยชน์ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ

ทางเลือกที่ 3 (จ่ายเงินสมทบเดือนละ 300 บาท) ได้รับสิทธิประโยชน์ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ และการสงเคราะห์บุตร