เทียบฟอร์มจัดการภัย น้ำท่วมพร้อมกัน ทำไมมาเลเซียอพยพคนก่อนไทย

สถานการณ์ น้ำท่วม ภาคใต้

เทียบฟอร์มการจัดการภัยน้ำท่วม หลังเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมใหญ่ทั่วคาบสมุทรมลายู จังหวัดชายแดนใต้ของไทยอ่วมเช่นกันกับหลายเมืองของมาเลเซีย ฝั่งมาเลเซียอพยพคนล่วงหน้า 3 ระลอก ตั้งจุดพักพิงรัฐเดียว 125 จุด ขณะที่ ปภ.ไทยตั้งจุดอพยพพักพิงชั่วคราวแล้ว 6 จุด

วันที่ 27 ธันวาคม 2566 สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณ 5 จังหวัดชายแดนใต้ของไทยยังคงอยู่ในสภาวะ “เฝ้าระวัง” แม้มีรายงานว่าระดับน้ำคงที่-ลดระดับ ทั้งฝนไม่ตกแล้ว และมีการเร่งระบายน้ำต่อเนื่อง หลังจากมวลน้ำป่าไหลเข้าท่วมฉับพลันในค่ำคืนวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา

สถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่ต่างกัน ในค่ำคืนของวันที่ 25 ธันวาคมมีรายงานว่าระดับน้ำในแม่น้ำโก-ลก ซึ่งเป็นชายแดนไทย-มาเลเซียเพิ่มสูงเป็น 11.04 เมตร (36.2 ฟุต) ซึ่งสูงกว่าระดับ 10.84 เมตร ที่บันทึกไว้ในเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2014 เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปีนั้นนำไปสู่การอพยพประชาชนกว่า 300,000 คนทั่วประเทศ

เมื่อย้อนสำรวจข่าวอุทกภัยในมาเลเซีย พบว่าสถานการณ์ล่าสุดเรียกว่า “Third Wave” หรือระลอกที่ 3 ในเขตตรังกานู จึงมีการเก็บรวบรวมรายงานผลมาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม เรียกว่ามาเลเซียมีการตั้งจุดอพยพไว้ต่อเนื่องมา 1 เดือนแล้ว แม้จะมีประชาชนกลับไปใช้ชีวิตปกติในระลอกแรกก็ยังมีน้ำท่วมระลอกสองและสามตามมาในขณะนี้

รายงานของศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (The ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management หรือ AHA Center) ระบุว่ามีฝนตกหนักส่งผลกระทบต่อคาบสมุทรมาเลเซีย (มลายู) โดยเฉพาะรัฐกลันตันและตรังกานู ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม ทำให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งส่งผลให้เกิดการอพยพและสร้างความเสียหาย

และในวันที่ 16 ธันวาคม เครือข่ายข้อมูลภัยพิบัติของอาเซียน (ADINet) รายงานว่า มีผู้อพยพ 5,587 คน โดย 3,247 คนอยู่ในเขตปาซีร์ มาส ในรัฐกลันตัน และผู้พลัดถิ่น 2,340 คนในศูนย์อพยพ 29 แห่งทั่วเขต ตุงกัน เกอมามาน มารุง และเซติอู ในรัฐตรังกานู

ในวันที่ 24 ธันวาคม มีรายงานมวลน้ำ “ระลอกที่สาม” เข้าสู่เมืองตรังกานู ซึ่งทางการได้จัดการอพยพคนไปศูนย์พักพิงแล้ว

และเมื่อย้อนกลับไปวันที่ 20 ธันวาคม สำนักข่าวท้องถิ่นอย่างเดอะสตาร์ มาเลเซีย (The Star Malaysia) รายงานว่าชาวตรังกานูโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายฝั่ง ได้รับการเตือนให้เตรียมพร้อมสำหรับความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมระลอกที่ 3 ระหว่างวันที่ 22-26 ธันวาคม

หลังจากที่น้ำท่วมระลอกแรกในตรังกานูเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. ถึง 1 ธ.ค. และระลอกที่สองเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 14-19 ธ.ค. ซึ่งทำให้ประชาชนเกือบ 8,000 คนต้องอพยพไปยังศูนย์บรรเทาทุกข์น้ำท่วมใน 8 อำเภอ ได้แก่ กัวลาตรังกานู, กัวลาเนรุส, มารัง, ฮูลูตรังกานู, เขมมาน, ดันกัน, เซติอู และเบสุต

ดังนั้น รวมในช่วงวันที่ 16-27 ธันวาคม ทางการมาเลเซียได้อพยพคนแล้วกว่า 28,000 หมื่นคน โดยเฉพาะในรัฐกลันตัน ซึ่งติดกับชายแดนไทยมีผู้อพยพมากที่สุด 17,466 คน ในศูนย์พักพิงชั่วคราว 89 แห่ง ส่วนรัฐตรังกานู มีผู้อพยพ 10,103 คน ในศูนย์พักพิงชั่วคราว 113 แห่ง ซึ่งพื้นที่ 2 รัฐนี้อยู่ใกล้ชายแดนไทยมาก

ในขณะที่ประเทศไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ออกมาเตือนในวันที่ 14 ธันวาคม ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะในลุ่มน้ำสายหลัก เช่น สายบุรี ปัตตานี โก-ลก และคลองตันหยงมัส ระหว่างวันที่ 18-22 ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวมาเลเซียเริ่มอพยพไปตามศูนย์พักพิงชั่วคราวต่าง ๆ

หากย้อนไปก่อนหน้านี้ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน มีการแจ้งเตือนน้ำท่วมฉับพลันในวันที่ 3-5 ธันวาคม พร้อมประชุมแผนบรรเทาสาธารณภัยไว้ สะท้อนให้เห็นว่าฤดูกาลของมรสุมและสภาวะน้ำท่วมมาถึง และจะเกิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดเป็นประจำทุกปี เพียงแต่ปีนี้สถานการณ์ในเขต 5 จังหวัดชายแดนแย่สุดในรอบ 50 ปี

หลังจากนั้นมีรายงานแจ้งเตือน “เฝ้าระวัง” อย่างต่อเนื่องจากทั้งปริมาณน้ำฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา และการระวังภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ “น้ำท่วมเฉียบพลัน” มักจะระวังป้องกันภัยไม่ได้ ต้องพึ่งการบรรเทาอพยพสิ่งของ สัตว์เลี้ยง เด็ก คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียงออกจากพื้นที่น้ำหลากและท่วมขังไปยังพื้นที่สูงปลอดภัยเร่งด่วน

ปัจจุบันสถานการณ์ในจังหวัดนราธิวาสของไทย ซึ่งอยู่ติดกับรัฐกลันตันยังไม่สู้ดี แต่ทางการไทยได้มีการจัดสรรทรัพยากรช่วยเหลือไปที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวทั่วพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ของไทยแล้วตั้งแต่วานนี้ 26 ธ.ค. 2566

ล่าสุดมีรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมใน 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 32 อำเภอ 165 ตำบล 922 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 71,401 ครัวเรือน โดยตามข้อมูลอัพเดตวันที่ 27 ธ.ค. 2566 เวลา 06.00 น. ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ รวม 5 จังหวัด 32 อำเภอ 164 ตำบล 890 หมู่บ้าน และมีประชาชนได้รับผลกระทบ 68,941 ครัวเรือน

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งจุดอพยพให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าพักชั่วคราวจำนวน 6 จุด แจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม และถุงยังชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่รวมกว่า 189,000 ชุด

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชั่น “THAI DISASTER ALERT”