กรมอุตุฯเตือน ระวัง “ฝนชะช่อมะม่วง” 12-14 ม.ค. 67 ชี้ปีนี้มาเร็วกว่าปกติ

กระแสลมฝ่ายตะวันตกส่งผลทำให้เกิดฝนชะช่อมะม่วง
อัพเดตล่าสุด 8 มกราคม 2567 เวลา 23.19 น.

กรมอุตุฯเตือนช่วง 12-14 ม.ค. 2567 นี้ ระวัง “ฝนชะช่อมะม่วง” เหตุมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตก พัดปกคลุมภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ทำให้มีฝน/ฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ชี้ปีนี้มาเร็วกว่าปกติ ส่วนจะมีลมกระโชกแรงหรือไม่ยังต้องติดตาม ส่วนภาคเหนือยังมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ส่วนกรุงเทพมหานคร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส สูงสุด 34-35 องศา

วันที่ 8 มกราคม 2567 เมื่อเวลา 18.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ลักษณะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้เริ่มอ่อนกำลังลง ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า

สำหรับบริเวณยอดดอยของภาคเหนือมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-14 องศาเซลเซียส และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง ส่วนยอดภูของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-16 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศที่ยังคงหนาวเย็นในตอนเช้าและเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

ส่วนฝุ่นละอองในระยะนี้ : ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันปานกลางถึงค่อนข้างมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง และมีการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี

กรมอุตุฯยังระบุว่า ช่วงวันที่ 12-14 มกราคม 2567 สภาพอากาศจะมีการเปลี่ยนแปลง คาดว่าจะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตก พัดปกคลุมภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ทำให้มีฝน/ฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ปีนี้มาเร็ว ปกติจะเกิดขึ้นช่วงปลายมกราคม เรียกฝนที่เกิดขึ้นว่าเป็นฝนชะช่อมะม่วง (มะม่วงกำลังออกดอก ติดผล) ปริมาณฝนไม่มาก แต่จะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงได้หรือไม่ ยังต้องติดตามและอัพเดตเป็นระยะ ๆ เพราะแนวกระแสลมตะวันตกดังกล่าวไม่ได้ลงมาลึกมาก

ทำไมถึงชื่อ “ฝนชะช่อมะม่วง”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับชื่อของ “ฝนชะช่อมะม่วง” นี้ เป็นคำเรียกชื่อฝนที่ตกนอกฤดูฝน คือ จะตกในช่วงราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หรือช่วงเดือนมีนาคม เป็นฝนที่ไม่แรงมาก ซึ่งเป็นระยะที่ต้นไม้ผลไม้ต่าง ๆ กำลังออกช่อ โดยเฉพาะช่อมะม่วง กล่าวกันว่าเมื่อมีฝนนี้ตกลงมาในระยะที่มะม่วงออกช่อ จะทำให้มะม่วงติดผลและมีผลดก

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยทางอุตุนิยมวิทยาเกษตร ก็มีเหตุผลพอจะเชื่อได้ เมื่อมะม่วงออกช่อ ผงฝุ่นละอองในอากาศก็จับเกาะติดตามช่อมะม่วงจำนวนมาก ฝุ่นละอองโดยมากเป็นเกลือ มีความเค็ม และทำให้ช่อมะม่วงร่วงหล่น ทำให้ไม่ติดผล แต่เมื่อมีฝนตก ย่อมชะผงฝุ่นละอองที่จับตามช่อให้หมดไป ช่อจึงสะอาด เย็นและชุ่มชื้น ทำให้ช่อติดเป็นผลได้มาก เมื่อมีฝนเช่นนี้ตก ชาวสวนชาวไร่จึงดีใจมาก และเรียกกันว่า ฝนชะช่อมะม่วง

แต่หากฝนยังไม่ตกชาวสวนก็มักใช้น้ำฉีดช่วย เพื่อชะล้างฝุ่น รวมถึงช่อดอกที่ไม่แข็งแรงให้หลุดออกไป คงเหลือแต่ช่อดอกที่แข็งแรงและติดเป็นผลมะม่วงเติบโตต่อไป

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 18.00 น.วันนี้ ถึง 18.00 น.วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ

ตอนบนของภาค อากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตก ความเร็ว 5-15 กม./ชม.
ตอนล่างของภาค อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า
ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.
อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส
บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 6-14 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย
อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส
บริเวณยอดภูอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-16 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง

อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า
อุณหภูมิต่ำสุด 19-21 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออก

อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า
อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ตอนบนของภาค อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า
ตอนล่างของภาค มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

กรุงเทพฯและปริมณฑล

เมฆบางส่วน กับมีหมอกบางในตอนเช้า
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.


ออกประกาศ 08 มกราคม 2567