นิวลุกคมนาคม “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” มิติใหม่ “ขนส่งสาธารณะทุกคนขึ้นได้ทุกวัน”

สุรพงษ์ ปิยะโชติ

ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มิติใหม่ในการบริหารราชการแผ่นดินเกิดขึ้นได้ทุกวัน เกิดขึ้นได้ทุกกระทรวง

วันนี้เป็นคิวของกระทรวงคมนาคม ที่มี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และมีอีกหนึ่งคีย์แมน “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก (ขบ.), กรมการขนส่งทางราง (ขร.), บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด, บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)

ล่าสุด “รมช.สุรพงษ์” ปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทุกคนขึ้นได้ทุกวัน” ผลักดันการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม จัดโดยสภาองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็ว ๆ นี้

“ราง” กระดูกสันหลังขนคน

“นโยบายรัฐบาลโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ เป็นหนึ่งในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบกับองค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในอนาคตที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

และถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต พฤติกรรมการเดินทางของผู้คน รูปแบบในการทำธุรกิจและความต้องการในการเดินทาง อันเป็นผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์

โดยกระทรวงคมนาคมมีนโยบายบูรณาการระบบขนส่ง “ถนน-น้ำ-ราง” กำหนดหน้าที่การขนส่งให้เมืองใหญ่เป็นศูนย์กลางการคมนาคม และกระจายการเดินทางไปสู่ภูมิภาค โดยใช้ระบบราง รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง เป็นกระดูกสันหลังในการขนส่งผู้โดยสาร

ควบคู่กับระบบล้อ รถเมล์ EV แท็กซี่ EV สามล้อ EV เป็นระบบ Feeder เพื่อลดการสร้างมลพิษทางอากาศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น เพื่อการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎระเบียบ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ เพื่อให้ระบบการขนส่งสาธารณะมีความครอบคลุมสอดรับกับความต้องการใช้บริการของประชาชน

ภายใต้กลไกและศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหลักการกระจายอำนาจที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการในพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เร่ง กม.ตั๋วร่วม D-Ticket

ทั้งนี้ “ทิศทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทุกคนขึ้นได้ทุกวัน” สรุปสาระสำคัญได้ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพฤติกรรมการเดินทางของประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายใน 2 สายหลักคือ “สายสีม่วง+สายสีแดง” ซึ่งเป็นโครงการที่ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน

ส่วนจะเดินหน้านโยบาย 20 บาทตลอดสายกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ หรือไม่นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณา

นอกจากเรื่องราคาค่าโดยสารแล้ว รัฐบาลยังได้พัฒนาระบบตั๋วร่วม ซึ่งร่างพระราชบัญญัติตั๋วร่วม พ.ศ…. จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเดือนมีนาคม 2567

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงระบบการจองตั๋วรถไฟผ่านระบบ D-Ticket โดยประชาชนสามารถขยายเวลาจองตั๋วรถไฟล่วงหน้าได้ จากเดิม 30 วัน เพิ่มสูงสุดเป็น 90 วัน และจัดเสริมขบวนรถ/พ่วงตู้ ให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน

2572 จุดเปลี่ยนประเทศไทย

ส่วนภาพรวมของการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะนั้น เชื่อว่าในปี 2572 จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ชัดเจนของประเทศไทย เนื่องจากการขนส่งสาธารณะ ขนส่งสินค้า ถูกยกระดับให้สามารถบูรณาการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันทั้งในไทย รวมถึงเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและลาว ทำให้ระบบขนส่งทางรางเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศผ่าน 60 จังหวัด

ส่วนที่เหลือจะเป็นระบบล้อ โดยรูปแบบบริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส.ต้องไม่วิ่งแข่งขันระยะไกล แต่เปลี่ยนเป็นระบบฟีดเดอร์บริการขนส่งระยะใกล้ เพื่อส่งคนเข้าระบบรางที่เป็นขนส่งหลักของประเทศ

“อนาคตระบบขนส่งทางรางจะเป็นขนส่งหลักของประเทศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการรถไฟทางคู่ที่มีรางขนาด 1 เมตร ความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กับรถไฟความเร็วสูง มีความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขนาดราง 1.43 เมตร ทำให้ร่นเวลาในการเดินทางและการขนส่งลง ทำให้รถบรรทุกหายไปจากท้องถนน และลดมลพิษ PM 2.5 ด้วย เพราะเมื่อรถไฟทางคู่เสร็จแล้ว จะมีทางรถไฟมากกว่า 8,000 กิโลเมตร ให้บริการประชาชนได้ 61 จังหวัด ทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น”

หัวใจสำคัญที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของขนส่งมวลชนสาธารณะอีกประเด็นคือ การกระจายอำนาจในการจัดการระบบขนส่งมวลชนให้กับท้องถิ่นในการจัดการตัวเอง

โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้กฎกระทรวงให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการเดินรถของตัวเองได้ ทำให้เกิดการกระจายขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

“ผมเชื่อว่าให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดการขนส่งสาธารณะ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เพราะที่ผ่านมาจัดการโดยส่วนกลาง แต่หลังจากนี้จะไม่มีการส่งผ้าเป็นม้วนลงไปให้พื้นที่แล้ว แต่ให้แต่ละท้องถิ่นไปจัดการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้เหมาะสมกับท้องที่ของตัวเอง ซึ่งท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งจะรู้ว่าต้องจัดระบบขนส่งมวลชนแบบไหน ที่จะตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่”