กทม.นับ 1 “โอนรถไฟฟ้า-จราจร” ปั้นโมเดลถนนครู-เพิ่มจุดบริการในห้าง

กทม.

เดือนแห่งความรักในเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2567 โฟกัสภารกิจหนักอึ้งบนบ่า “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนที่ 17 สรุปนโยบายทั้งเก่าและใหม่ที่น่าสนใจมีอย่างน้อย 4 เรื่องด้วยกัน

นับ 1 รับโอนจราจรเมืองกรุง

เริ่มจากมีการประชุมแมตช์แรก เพื่อส่งสัญญาณว่า กทม. พร้อมรับถ่ายโอนภารกิจด้านวิศวกรรมจราจรและการบังคับใช้กฎหมายจราจรแล้ว โดยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มีการประชุมครั้งที่ 1/2567 ของ “คณะกรรมการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการรับถ่ายโอนภารกิจการกำหนดมาตรฐาน ด้านวิศวกรรมจราจรและการบังคับใช้กฎหมายจราจรในส่วนของกรุงเทพมหานคร”

โดยมี 2 หน่วยงานหลักรับผิดชอบดูแล ได้แก่ “สำนักการจราจรและขนส่ง-สำนักเทศกิจ” แบ่งงานกันทำ ดังนี้ สำนักการจราจรและขนส่ง ปกติดูแลเรื่องกายภาพอยู่แล้ว อาทิ การขีดสีตีเส้น การติดตั้งสัญญาณไฟจราจร การติดตั้งป้ายจราจร จึงไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง ส่วนสำนักเทศกิจ ดูแลการออกระเบียบข้อบังคับ การบังคับใช้กฎหมาย จึงต้องเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันยังไม่ได้รับโอนภารกิจมา เนื่องจากต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก ปี 2522 เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น บทสรุปที่ประชุมนัดแรกจึงมีมติแต่งตั้งคณะทำงาน 2 คณะ

ประกอบด้วย คณะทำงานยกร่างเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก ปี 2522 กำหนดรายงานความคืบหน้าทุก 15 วัน และคณะทำงานศึกษาและกำหนดแนวทางการศึกษาแนวทางการรับถ่ายโอน กำหนดให้รายงานความคืบหน้าทุก 30 วัน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

โอนรถไฟฟ้าเงิน-เทา-ฟ้า

ถัดมา การประชุมแมตช์แรกเช่นเดียวกันเป็นของ “คณะกรรมการบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร” ครั้งที่ 1/2567 วาระพิจารณาขอความเห็นชอบโอนภารกิจโครงการรถไฟฟ้าลงทุนใหม่ 3 เส้นทาง ในความรับผิดชอบของ กทม.กลับคืนให้แก่กระทรวงคมนาคม

ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ และ 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีฟ้า ช่วงดินแดง-สาทร

จุดเน้นอยู่ที่การโอน 3 โครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ จะทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน สามารถบูรณาการร่วมกับรถไฟฟ้าสายอื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย”

รวมทั้งแนวเส้นทางสายสีเทา-สายสีเงิน พาดผ่านพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานกระทรวงคมนาคม ที่สำคัญ กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลรถไฟฟ้าหลายเส้นทางอยู่แล้ว จึงสามารถกำกับดูแลนโยบาย “ระบบตั๋วร่วม-ค่าแรกเข้า” ตลอดจนนโยบายหาเสียงของรัฐบาลว่าด้วยค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

ด่านสำคัญรวมถึงรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมมีศักยภาพในการลงทุนมากกว่า การชดเชยรายได้ตามนโยบายการกำหนดอัตราค่าโดยสาร และสามารถหาแหล่งเงินทุน

ความสำคัญของการประชุมแมตช์แรกของคณะกรรมการชุดนี้ จึงเท่ากับเริ่มต้นนับ 1 แล้วเช่นกัน

โมเดล “ถนนครู” 4 เส้นทาง

หนึ่งในเรื่องบาดใจคนกรุงเป็นเรื่อง “ถนนรั่ว-ถนนร้าว” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของผู้ว่าฯชัชชาติ บรรจุใน 226 นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี

ล่าสุด มีการหยิบยกโมเดลใหม่ในการบริหารจัดการมาตรฐานงานก่อสร้างสาธารณูปโภคในพื้นที่ถนน ด้วยการกำหนดถนนนำร่อง หรือ “ถนนครู” 4 เส้น ที่จะมีการตรวจสอบเข้มข้นทุกวัน

“เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นหัวใจของเศรษฐกิจ หน่วยงานต่าง ๆ จึงต้องมาก่อสร้างอยู่บนพื้นที่สาธารณะที่ใหญ่ที่สุดอย่างถนน จึงได้สั่งการให้กำกับดูแลอย่างจริงจัง รวมทั้งทบทวนระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เวลาใบอนุญาตเป็นระยะครึ่งปีได้หรือไม่ หากผลงานไม่ดี ไม่ทำตามเงื่อนไข ไม่ต่อใบอนุญาต หรือระงับการก่อสร้างได้หรือไม่ มีการวางเงินประกันได้หรือไม่”

สำหรับโมเดล “ถนนครู” มีความหมายคือ ให้เริ่มต้นถนนตัวอย่างจาก 4 ถนนที่ประชาชนร้องเรียนบ่อย นำมาจัดทำเป็นโครงการถนนครู หรือถนนต้นแบบ ได้แก่ 1.ถนนพระราม 3 2.ถนนพระราม 4 3.ถนนเพชรบุรี และ 4.ถนนสาทร

“ผมกำชับว่าทุกฝาบ่อที่มีการเปิด ต้องมีผู้รับผิดชอบทั้งฝ่ายเราและหน่วยงานที่ก่อสร้างสาธารณูปโภค ต้องมีการตรวจทุกวันว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ขอให้ทำอย่างจริงจัง เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก”

ข้อมูลพื้นฐาน พื้นที่ถนนของ กทม.มีหน่วยงานที่ก่อสร้างสาธารณูปโภค 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ 1.การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 2.การประปานครหลวง (กปน.) 3.บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT 4.รฟม. มีสถิติการขออนุญาต แบ่งเป็นปี 2565 รวม 545 ครั้ง ได้รับอนุญาต 315 ครั้ง, ปี 2566 รวม 636 ครั้ง ได้รับอนุญาต 373 ครั้ง และปี 2567 ในช่วง 1 เดือนเศษมีการขอรวม 56 ครั้ง ได้รับอนุญาต 30 ครั้ง

ตัวอย่างโครงการ อาทิ “กฟน.” มีโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินย่านพระราม 3, โครงการในถนนพระราม 4 โครงการพื้นที่ชั้นใน (ถนนชิดลม ถนนเพชรบุรี ถนนดินแดง ถนนสาทร ถนนเจริญราษฎร์) เป็นต้น

“กปน.” มีโครงการก่อสร้างวางท่อประปาบริเวณรถไฟฟ้าสายสีส้ม (สัญญา 2-3) งานก่อสร้างวางท่อประปาบริเวณแยกพระราม 9, งานวางท่อช่วงซอยประชาอุทิศ 97/1 ถึงแยกถนนกาญจนาภิเษก, ถนนสรงประภา เขตดอนเมือง NT มีโครงการก่อสร้างบ่อพักสายเคเบิลใต้ดิน ท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดิน ถนนจรัญสนิทวงศ์ ช่วงหน้าไปรษณีย์บางอ้อ-แยกท่าพระ, ถนนพหลโยธิน ร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต เป็นต้น

แบงคอกเอ็กซ์เพรสเซอร์วิส

เรื่องใหม่หมาดที่อาจดูเป็นเรื่องเล็ก แต่จริง ๆ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะใกล้ชิดการใช้บริการของประชาชน มาจากการเปิด “จุดบริการด่วนมหานคร-Bangkok Express Service” ประเดิมตัดริบบิ้นจุดแรกในเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ ท่าพระ เขตธนบุรี โดยบริการทุกวัน เวลา 10.30-18.30 น.

“โอกาสนี้ต้องขอขอบคุณ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่ได้เอื้อเฟื้อสถานที่ในการช่วยพัฒนาเส้นเลือดฝอยให้ได้รับบริการที่ดีขึ้น ประกอบกับสำนักงานเขตธนบุรี มีพื้นที่จำกัด ปัจจุบันยังอยู่ในพื้นที่ของวัด ที่จอดรถไม่เพียงพอ การมีจุดบริการตรงนี้ เมื่อประชาชนมาใช้บริการที่ห้าง ก็สามารถมาใช้บริการงานทะเบียนที่นี่ได้เลย มีความสะดวก ช่วยให้การบริการประชาชนทำได้ดีขึ้น จะพยายามขยายให้ได้มากที่สุด”

นอกจากเดอะ มอลล์ กรุ๊ป แล้ว กทม.มีความร่วมมือกับหลายภาคส่วน และพยายามขยายโมเดล Bangkok Express Service ให้ได้มากที่สุด เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน