ฤดูร้อน 2566 เสียชีวิตจากอากาศร้อน 37 ราย สธ.เตือนป้องกันฮีตสโตรก

ฤดูร้อน อากาศร้อน แรงงาน ทำงานกลางแจ้ง
ภาพจาก ศูนย์ภาพเครือมติชน

กรมควบคุมโรคเปิดข้อมูลการป่วยจากภาวะอากาศร้อน พบฤดูร้อนปี 2566 มีผู้เสียชีวิต 37 ราย เตือนกลุ่มเสี่ยง-ผู้ทำงานกลางแจ้ง ป้องกันโรคฮีตสโตรก

วันที่ 7 มีนาคม 2567 แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อน ในหลายพื้นที่จึงมีอากาศร้อนอบอ้าว และค่าดัชนีความร้อนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกรมอุตุฯคาดการณ์ว่าอุณหภูมิปีนี้จะสูงขึ้นกว่าปีก่อน อาจสูงถึง 44.5 องศาเซลเซียส

ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการป่วยจากภาวะอากาศร้อนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโรคลมร้อนหรือฮีตสโตรก (Heatstroke) ที่เกิดจากภาวะที่ร่างกายร้อนจัดจนส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน

จากข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี พบรายงานผู้เสียชีวิตที่เข้าข่ายการเฝ้าระวังการเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน ระหว่างปี 2560-2566 ดังนี้

  • ปี 2560 จำนวน 24 ราย
  • ปี 2561 จำนวน 18 ราย
  • ปี 2562 จำนวน 57 ราย
  • ปี 2563 จำนวน 12 ราย
  • ปี 2564 จำนวน 7 ราย
  • ปี 2565 จำนวน 8 ราย
  • ปี 2566 จำนวน 37 ราย

โดยในปีที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 5 มีนาคม-22 พฤษภาคม 2566 มีรายงานการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนรวม 47 ราย (ป่วย 10 ราย เสียชีวิต 37 ราย) พบมากสุดในเดือนเมษายน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย

สำหรับผู้ป่วย 10 ราย มีอายุระหว่าง 13-75 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ร้อยละ 30) รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้าง (ร้อยละ 20) จากข้อมูลยังพบว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวร่วมด้วย (ร้อยละ 10) ได้แก่ ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, หัวใจและหลอดเลือด และเป็นผู้ป่วยติดเตียง กิจกรรมหรือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ การทำกิจกรรมกลางแจ้ง การดื่มสุรา ทั้งนี้ ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยขณะอยู่กลางแจ้งถึงร้อยละ 80

ส่วนผู้เสียชีวิต 37 ราย อายุระหว่าง 17-81 ปี ประกอบอาชีพรับจ้าง (ร้อยละ 27) ภาคกลางมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศร้อนสูงที่สุด (ร้อยละ 35) นอกจากนี้ พบว่าผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวร่วมด้วย (ร้อยละ 31) ได้แก่ ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, หัวใจและหลอดเลือด มีพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การดื่มสุรา อีกทั้งพบว่าเป็นการเสียชีวิตกลางแจ้ง (ร้อยละ 62)

เปิดวิธีปฐมพยาบาล-ป้องกันฮีตสโตรก

แพทย์หญิงจุไรกล่าวต่อว่า โรคลมร้อนหรือฮีตสโตรก (Heatstroke) นี้ เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิความร้อนสูงมาก โดยเฉพาะที่มากกว่า 40 องศาเซลเซียส จนทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้

มีอาการ คือ ตัวร้อน วิงเวียน ปวดมึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ภาวะขาดน้ำ เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นแรง เป็นลม อาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก พูดจาสับสนได้ หากพบผู้เริ่มมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบนำผู้ป่วยเข้าห้องที่มีความเย็น และให้ดื่มน้ำมาก ๆ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยนอนราบ คลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันไม่ให้โคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ และให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทร.แจ้งสายด่วน 1669

ทั้งนี้ สามารถป้องกันฮีตสโตรกได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน เป็นต้น รวมทั้งเด็กและหญิงตั้งครรภ์ โดยควรปฏิบัติดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดจัดต่อเนื่องนานเกินไป
  2. ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่
  3. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  4. หลีกเสี่ยงสถานที่ที่อากาศร้อน อับ และถ่ายเทไม่ดี
  5. สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเสี่ยงใส่เสื้อผ้าสีทึบดำ เพราะจะสะสมความร้อนได้ ควรเลือกเสื้อผ้าสีอ่อน และไม่รัดแน่นจนเกินไป
  6. ห้ามทิ้งใครไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแดด โดยเฉพาะเด็กเล็ก รถที่จอดตากแดดโดยไม่เปิดเครื่องปรับอากาศอาจมีอุณหภูมิสูงขึ้นได้เร็วมากภายใน 10-20 นาที
  7. ไม่ควรอยู่กลางแจ้งคนเดียว ควรอยู่เป็นกลุ่ม เพราะหากมีอาการผิดปกติจะได้มีคนช่วยเหลือได้ทัน