รมว.แรงงาน เผย อิตาเลียนไทย ยอมจ่ายค่าแรงลูกจ้างแล้ว 6.6 พันคน รวมกว่า 30 ล้านบาท เร่งกู้เงินธนาคาร แก้ปัญหาวิกฤตขาดสภาพคล่อง
วันที่ 25 มีนาคม 2567 มติชนรายงานว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยความคืบหน้าในการช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่ถูกค้างจ่ายค่าจ้าง ว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา พนักงานตรวจแรงงาน ได้เชิญผู้แทนบริษัท มาพบที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 เพื่อให้ข้อเท็จจริงและหารือร่วมกันถึงปัญหาการค้างจ่ายค่าจ้าง ตนได้มอบหมายให้นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมหารือด้วย
ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้แทนบริษัทให้ข้อเท็จจริงว่า บริษัทมีลูกจ้างทั้งหมด 20,188 คน และมีโครงการก่อสร้างกระจายอยู่หลายจังหวัดทั่วประเทศไทย รวม 115 โครงการ กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น บริษัทยอมรับว่าเกิดจากการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ปัญหาโดยการขอสินเชื่อหรือขอกู้เงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนภายในบริษัท
โดยในปัจจุบันมีสถาบันทางการเงินเข้ามาสนับสนุนโครงการของบริษัทแล้ว จำนวน 79 โครงการ ทำให้สามารถจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างได้ตามปกติ สำหรับ 36 โครงการ ที่เหลือรวมถึงสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท อยู่ระหว่างติดต่อประสานกับสถาบันการเงินเข้ามาสนับสนุน ซึ่งผู้แทนบริษัทคาดว่าจะสามารถจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างได้ตามปกติประมาณเดือนเมษายน 2567
“ทั้งนี้ จากการที่ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานทั่วประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบไซต์ก่อสร้างในเครือบริษัทอิตาเลียนไทย พบว่า ในหลายโครงการหลายจังหวัดเริ่มทยอยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย โดยลูกจ้างได้รับค่าจ้างตามปกติแล้ว เป็นลูกจ้างที่มีทั้งสัญชาติไทยและแรงงานข้ามชาติ จำนวน 6,626 คน ได้แก่ ลูกจ้างในจังหวัดระยอง ปทุมธานี เชียงใหม่ นครราชสีมา และเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 และพื้นที่ 3 เป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท” นายพิพัฒน์กล่าว
ด้าน นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างบริษัทอิตาเลียนไทย รวมไปถึงลูกจ้างรับเหมาช่วงอย่างเต็มที่ตามอำนาจหน้าที่ โดยในหลายพื้นที่ได้มีการรับคำร้อง คร.7 และออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง อย่างไรก็ตาม ตนได้เน้นย้ำกับพนักงานตรวจแรงงานในพื้นที่ที่ลูกจ้างยังไม่ได้รับค่าจ้างค้างจ่ายให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเร่งรัดให้นายจ้างเร่งดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่ได้ตกลงไว้กับลูกจ้าง
ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองแรงงานทุกคนภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ 2566 กสร.ได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างในสถานประกอบกิจการทั่วประเทศให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำนวน 19,832 คน
ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ เป็นเงินรวม 1,912,298,148.01 บาท โดยจำแนกตามประเภทคำร้อง 5 ลำดับแรก คือ 1) ค่าจ้าง 2) ค่าชดเชยการเลิกจ้าง 3) ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 4) ค่าล่วงเวลา และ 5) ค่าทำงานในวันหยุด และพบว่า แรงงานสัญชาติไทยมีการยื่นคำร้อง (คร.7) มากที่สุด รองลงมาคือ แรงงานสัญชาติเมียนมา กัมพูชา และลาว ตามลำดับ