โควิดวันนี้ (25 มี.ค. 67) ป่วยใหม่เข้ารพ.พุ่ง 630 คน ชี้ยังเป็นโอมิครอน JN.1

อัพเดตสถานการณ์โควิดรายสัปดาห์

กรมควบคุมโรคเผยป่วยโควิดเข้ารักษาตัวใน รพ.สัปดาห์ล่าสุด 630 คน เสียชีวิต 5 คน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 222 คน “หมอยง” เผยสายพันธุ์ส่วนใหญ่ยังเป็นโอมิครอน JN.1 เกือบทั้งหมด ความรุนแรงเท่าโรคไข้หวัดใหญ่ RSV ชี้หน้าร้อนการระบาดจะลดลง แต่จะไปเพิ่มช่วงเดือนมิถุนายน เมื่อเข้าฤดูฝน

วันที่ 25 มีนาคม 2567 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ผู้ป่วย covid-19 ภายในประเทศ รายสัปดาห์ (สัปดาห์ที่ 11-ระหว่างวันที่ 17-23 มีนาคม 2567) ว่าพบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มจำนวน 630 คน หรือเฉลี่ยวันละ 90 คน รวมยอดป่วยเข้าโรงพยาบาลสะสมตั้งแต่ต้นปีมีจำนวน 6,238 คน

ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ 11 นี้มีจำนวน 5 คน รวมเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ต้นปีจำนวน 60 คน และในสัปดาห์ล่าสุดยังมีผู้ป่วยปอดอักเสบอีกจำนวน 222 ราย และผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 74 ราย

วันเดียวกัน นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงการระบาดของโควิด-19 ว่า ในฤดูกาลนี้ (หน้าร้อน) การระบาดจะน้อยลงอย่างมาก และจะไปเริ่มฤดูกาลใหม่ในเดือนมิถุนายน (ฤดูฝน) ความรุนแรงของโรค ถ้าดูจากอัตราป่วยตายก็จะเหมือนไข้หวัดใหญ่และ RSV น่าจะประมาณร้อยละ 0.1 โดยกลุ่มเสี่ยงสูงได้แก่เด็กเล็ก และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เป็นกลุ่มที่จะรุนแรง

ส่วนสายพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ขณะนี้ก็ยังเป็นโอมิครอน JN.1 เกือบทั้งหมด ไม่ได้ทำให้โรครุนแรงขึ้น แนวทางการดูแลและปฏิบัติตน ก็มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด ตั้งแต่ในปีแรก 2563 จนถึงปัจจุบัน 2567 ก็เหมือนกับโรคทางเดินหายใจทั่วไป เช่นไข้หวัดใหญ่ RSV

“เราจะตรวจ ATK เมื่อมีอาการของทางเดินหายใจ การปฏิบัติในการแยกตัวเมื่อรู้ว่าเป็นโควิด-19 เราจะแยกตัว ในช่วงที่มีอาการของโรค เช่น ไข้ ไอมาก จนอาการต่าง ๆ ดีขึ้นแล้ว 1 วัน ก็สามารถที่จะออกไปปฏิบัติงานได้ แต่จะต้องป้องกันการแพร่กระจายโรค โดยใส่หน้ากากอนามัยต่อไปอีกอย่างน้อย 5 วัน และปฏิบัติตนเคร่งครัดในเรื่องสุขอนามัย” นายแพทย์ยงกล่าว

เกาะติดยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ (17-23 มีนาคม 2567)

  • ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 630 ราย
  • ผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) 5 ราย
  • ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล สะสม 6,238 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567)
  • ผู้เสียชีวิต สะสม 60 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567)