ศบค. จัดโปรแกรมพิเศษ “ป่วย+ทัวร์” ดึงต่างชาติรักษาตัวในไทย 17 ประเทศจองคิวแน่น!

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.

ศบค. เปิดโครงการ Medical and wellness Program  ดึงต่างชาติเข้ารับการรักษาตัวในไทย ล่อใจจัดแพคเกจพิเศษ “ป่วย+ทัวร์-ท่องเที่ยว” หลังรักษาเสร็จ สธ.เผยมี 17 ประเทศจองคิวแน่นกว่า 1,700 คน ทั้งกลุ่มประเทศอาเซียนและตะวันออกกลาง ขณะที่มีโรงพยาบาลเอกชนสมัครเข้าร่วมแล้ว 62 แห่ง

วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) เปิดเผยเพิ่มเติม ภายหลังแถลงสถานการณ์ประจำวันว่า วันนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กมีการพิจารณานำเสนอ ร่างจัดการข้อปฎิบัติ Medical and wellness Program โดยจะนำชาวต่างชาติเข้ามาเพื่อรักษาโรคในประเทศไทยในฐานะผู้ป่วยหรือผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เพื่อจะมารับการรักษาในโรงพยาบาลในประเทศไทย โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ

เปิด 3 เฟสรับเฉพาะชาวต่างชาติ

ระยะที่ 1 เริ่มในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563  เป็นการอนุญาตให้ Medical and wellness program เข้ามาได้

ระยะที่ 2 เริ่มช่วงวันที่ 1 สิงหาคม 2563 จะอนุญาตให้กลุ่มคนผู้ที่เข้ามาเพื่อเสริมความงามหรือรักษาโรคในระยะสั้น แต่จะต้องอยู่ในโรงพยาบาล  14 วัน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรคที่เหมือนกับการอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) แต่หากออกจาก รพ.แล้วก็สามารถเดินทางในประเทศไทยได้ รวมถึงการอยู่ในวิลล่าที่มีพื้นที่จำกัดเฉพาะในการพักอาศัย

ระยะที่ 3 ช่วงวันที่ 1 กันยายน 2563 จะเป็นส่วนของทราเวลบับเบิล (Travel Bubble) จะอนุญาตให้มีการเดินทางเข้ามาได้เป็นกรณีพิเศษ เป็น Special arrangement โดยอาจจะเริ่มเฉพาะกลุ่มที่สามารถควบคุมได้ก่อน

“เป็นกำหนดการคร่าวๆ ถ้าผ่านระยะที่ 1 คือ Medical and Wellness Program ไปได้ ระยะที่สองก็จะป่วย +ทัวร์ หรือเดินทางท่องเที่ยว ส่วนทราเวลบับเบิลก็จะเกิดขึ้นตามมา” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว และว่า

คำหรือศัพท์ต่างๆเหล่านี้จะต้องใช้ให้ถูกต้อง เพราะบางคนแปลไปแล้วผิดทาง โดยเฉพาะก่อนหน้าที่ตนเองประกาศไปมี 11 กลุ่ม ตามข้อกำหนดที่เกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้ว 11 กลุ่มจะเน้นผู้ที่มีธุรกิจ ธุรกรรม หรือนักธุรกิจที่มาป่วย มารักษา จะสังเกตว่าไม่ได้ใช้คำว่ามาท่องเที่ยว

“เราจะแปลคำใหม่ว่า ทราเวล แปลว่า เดินทาง หรือผู้ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยมากกว่า ไม่ใช่นักท่องเที่ยว ดังนั้นให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาเฉพาะ 11 กลุ่มเท่านั้น ที่มีธุรกิจ ธุรกรรม มาทำสัญญา มาทำให้ธุรกิจของเราขับเคลื่อนได้เท่านั้น เป็นผู้ที่เดินทาง ยังไม่ใช่ท่องเที่ยวแบบเดิม” โฆษก ศบค.กล่าวย้ำ

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ขณะนี้เรามีการเตรียมโรงพยาบาลไว้ในรูปแบบของการเข้ามารับการรักษา คนที่จะเข้ามารักษาใน Medical and Wellness Program ต้องอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญา ซึ่งเราใช้คำว่า Hospital Quarantine คืออยู่ 14 วัน เช่น มาทำจมูก แผลอาจจะหาย 5- 7 วัน แต่จะต้องอยู่โรงพยาบาล 14 วัน เพื่อให้มั่นใจว่า คุณไม่นำเชื้อเข้ามา หรือนำเชื้อออกไป ถ้าป่วยก็จะได้เห็นอาการตั้งแต่อยู่ในนี้ คนที่เกี่ยวข้องก็จะได้รับการดูแล ถ้าไม่ป่วยก็อยู่จนจบ เพื่อให้ทุกๆอย่างได้ถูกควบคุมดูแล ซึ่งอันนี้จะเกิดขึ้นโดยเร็ว

โรงพยาบาลเอกชนสนใจสมัครเข้าร่วมเพียบ

ขณะเดียวกันก็มีอีกคำหนึ่ง คือ Alternative Hospital Quarantine จะเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามารักษา มีผู้ติดตาม 2-3 คน หรือมาเป็นกรุ๊ป ก็มาอยู่ในโรงพยาบาล อันนี้เน้นที่โรงพยาบาลเอกชน ยกตัวอย่างเช่น เรามีชื่อเสียงเรื่องของการทำกิ๊ฟ หรือการรักษาผู้ที่มีบุตรยาก สามีอาจจะต้องเดินทางมาพร้อมภรรยา ก็มาแล้วไปปรึกษาที่คลิกนิก หรือโรงพยาบาล นอนเสร็จก็อยู่ยาว 14 วัน ซึ่งก่อนมาก็มีการตรวจโควิด ระหว่างอยู่ก็ตรวจด้วย ขากลับก็ตรวจ นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ตอนนี้มีโรงพยาบาลเอกชนได้มีการสมัครกันเข้ามาเพื่อจาก 57 แห่ง เพิ่มเป็น 62 แห่งแล้ว ซึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ และรับเฉพาะผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบินเท่านั้น ไม่มีการเปิดให้ผ่านด่านพรมแดน เพราะทางเครื่องบินเรามีระบบติดตามได้อย่างชัดเจน

17 ประเทศ แห่ลงทะเบียน “อาเซียน-ตะวันออกกลาง”

ทั้งนี้การที่คนที่จะเข้ามาทำตรงนี้ได้จะต้องขออนุญาตก่อน มีใบนัดแพทย์ มีใบขออนุญาตเข้ามาที่เรียกว่า COE หรือ Certificate of Entry ที่ทางสถานทูตจะเป็นผู้ออกให้ ล่าสุดข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขมีคนลงทะเบียน 17 ประเทศแล้ว เช่น เมียนมาร์ ลงทะเบียนไว้ 478 ราย กัมพูชา 477 ราย เวียนาม 39 ราย จีน 69 คน กาตาร์ 95 คน ซาอุฯ 14 คน โอมาน 187 คูเวต 137 คน ยูเออี 223 คน รวมๆแล้วมี 1,700 คน ที่ขอจะเข้ามาในเดือนกรกฎคมนี้

“หลังจากนั้นอาจจะมีแพ็คเกจพิเศษ สำหรับผู้ที่ปลอดโควิด 19 ไปท่องเที่ยวอยุ่ในฟิตเนส นวด/สปา อาหารสมุนไพร หรือไปอยู่ในโรงแรมเฉพาะ นี่คือแผนภาพในอนาคตที่เราอยากจะดึงคนที่มีศักยภาพในการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเราผ่านเรื่องของ Medical and Wellness Program ให้มาเมืองไทยมากๆ และได้ใช้บริการนี้”

ส่วนข้อกังวลหากมีการระบาดรอบสอง หากมีคนเหล่านี้เข้ามาจะทำอย่างไร นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า เลขาฯสภาความมั่นคงแห่งชาติได้บอกไว้ว่า เรื่องนี้ ฝ่ายสาธารณสุขต้องดูเรื่องของทรัพยากรของเตียง บุคลากรทางการแพทย์ เผื่อไว้ได้วย หากมีการระบาดจะไม่มีการแย่งใช้ทรัพยากรของกันและกัน ซึ่งที่ประชุมก็ได้รับข้อห่วงใยเหล่านี้ไปดู