“พายุนังกา” รอไปก่อน! “ประวิตร” วุ่นการเมืองยกเลิกประชุมน้ำ

ประวิตร วงษ์สุววรณ
แฟ้มภาพ

“ประวิตร” ยกเลิกประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ เหตุติดภารกิจด่วนหลังนั่งคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนจับตา พายุนังกา มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 16-20 ต.ค.

วันที่ 15 ต.ค. ผู้สื่อข่าว ระบุ 11.00 น. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะมีการประชุมสถานการณ์น้ำ และติดตามผลดำเนินงาน โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่เนื่องจากติดภารกิจ จึงเลื่อนออกไปก่อน

ขณะที่ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับปฏิบัติการหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร

รายงานข่าวระบุ จากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เรื่อง  เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมขัง ว่า ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 8 แจ้งว่า พายุระดับ 3 (พายุโซนร้อน) “นังกา” บริเวณอ่าวตังเกี๋ย คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดนิญบิญ ทางตอนใต้ของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) และความกดอากาศต่ำตามลำดับ

โดยจะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นในบริเวณด้านตะวันออกของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ซึ่งอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้บริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 16-20 ตุลาคม 2563

ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (One Map) พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 16-20 ต.ค. 2563 ดังนี้

1. เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง บริเวณ ภาคเหนือ จังหวัดตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดชัยภูมิ และอุบลราชธานี ภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ และตรัง

2. เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง บริเวณ แม่น้ำมูล และลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา คลองลำปะเทีย จังหวัดบุรีรัมย์  ห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ แม่น้ำนครนายก จังหวัดนครนายก คลองพระสทึง และคลองพระปรง จังหวัดสระแก้ว แม่น้ำลำภาชี จังหวัดราชบุรี และกาญจนบุรี แม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี แม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม่น้ำตรัง คลองปะเหลียน คลองชี และคลองนางน้อย จังหวัดตรัง รวมทั้ง คลองละงู และคลองดุสน จังหวัดสตูล

ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนัก พร้อมปรับการระบายน้ำเคร่งครัด