ต่อเวลาลดภาษีที่ดิน 1 ปี ธุรกิจตีปีก-กทม.สูญหมื่นล้าน

ภาษีที่ดินกทม.ลด
ภาพโดย Kawin Piboonsawat จาก Pixabay

คลังเล็งขยายเวลาลดภาษีที่ดินฯรอบปี 2564 อีก 1 ปี บรรเทาภาระประชาชนจากวิกฤตโควิด-19 ชง ครม.เคาะภายใน ธ.ค.นี้ ชี้ยังถกไม่ได้ข้อสรุปจะปรับลด 90% เท่าปีนี้หรือไม่ เพราะกระทบรายได้หน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศ กทม.ต่อรองขอให้ลด 50% เผยรายได้วูบ 1.2 หมื่นล้านรัฐยังไม่ชดเชย “บิ๊กธุรกิจ-กลุ่มทุน” ตีปีกได้อานิสงส์ถ้วนหน้า กองรีท “เจ้าสัว” แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ มาตรการบรรเทาภาษีที่ดินฯ หนุนรายได้เพิ่ม-รายจ่ายลด

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาขยายระยะเวลาการบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับประชาชนอีก 1 ปี ในรอบปี 2564 หลังจากก่อนหน้านี้ได้บรรเทาภาระภาษีในปี 2563 มาแล้ว โดยลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ของภาระภาษีที่ต้องเสียทั้งหมดในปี 2563 ทั้งในกรณีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม, ที่ดินที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย, ที่ดินที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ นอกจากเกษตรกรรม/ที่อยู่อาศัย รวมถึงที่รกร้างว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ โดยให้เจ้าของหรือผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสียภาษีเพียง 10% ของภาระภาษีที่ต้องเสีย

ชงเคาะยืดลดภาษีที่ดินอีก 1 ปี

ตอนนี้มีแนวโน้มว่าจะมีมาตรการบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปอีก 1 ปี เพื่อช่วยลดภาระให้กับประชาชนในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างไรก็ดี กำลังพิจารณากันว่าจะคงให้จัดเก็บที่ 10% ของภาระภาษีเหมือนในรอบปี 2563 หรืออาจจะปรับให้มีการเสียเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะไม่อย่างนั้น รัฐบาลต้องชดเชยรายได้ให้ท้องถิ่นเพิ่มจำนวนมาก อย่างกรณีการปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ในปี 2563 รายได้ท้องถิ่นหายไปราว 3.6 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าลด 50% รายได้ท้องถิ่นก็จะหายราว 2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในเดือน ธ.ค.นี้

ชี้ปี”64 ยังซมพิษ ศก.-โควิด

ทั้งนี้ จากการประเมินปัจจัยต่าง ๆ แล้วเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องขยายมาตรการลดภาษีดังกล่าวออกไป เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ยังไม่คลี่คลายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงน่าจะต้องขยายระยะเวลาการบรรเทาภาระภาษีออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะในปี 2564เศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบอยู่ จึงน่าจะลดภาษีที่ดินให้อีก 1 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชน

“แม้ไม่มีการปรับลดภาษีให้ ประชาชนก็อาจไม่มีเงินนำมาจ่ายภาษีอยู่ดี ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายเก็บภาษีลักษณะนี้จะต้องเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดี เพื่อเก็บส่วนเกินความมั่งคั่งของประชาชน แต่ขณะนี้ยังไม่ใช่ ประชาชนยังไม่ได้อยู่ดี กินดี อาจจะมีแค่คนระดับบนบางส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่สถานการณ์แบบนี้ควรลดภาษีที่ดินออกไปก่อน บางประเทศที่เก็บภาษีรูปแบบนี้ เช่น นอร์เวย์ ที่เป็นประเทศในลักษณะรัฐสวัสดิการ ใช้ภาษีจำนวนมากเพื่อเลี้ยงดูประชาชน ส่วนไทยพยายามทำ แต่ยังไม่ครอบคลุม ดังนั้นหากจะเก็บภาษีที่ดิน เพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐไปดูแลสวัสดิการประชาชนเพิ่มเติม ขณะนี้ยังไม่เหมาะสม เพราะประชาชนได้รับผลกระทบจากโควิด”

แนวทางการขยายระยะเวลามาตรการลดภาระภาษี จะต้องแก้ไขพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท ที่ออกมาช่วงกลางปี 2563

กทม.คอนเฟิร์มเรียกคลังหารือ

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้รับการประสานอย่างไม่เป็นทางการจากกระทรวงการคลังว่า จะขยายอายุพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ในอัตรา 90% ออกไปอีก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระของประชาชนผู้เสียภาษีประจำปี 2564 จากภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาจะลดหย่อนในอัตราเดิม 90% หรือ 50% สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์อื่น และทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

หวั่นรายได้วูบให้หั่นแค่ 50%

เบื้องต้นกระทรวงการคลังได้สอบถามความเห็นมายัง กทม.ว่า มีความพร้อมที่จะลดหย่อนอัตราภาษีที่ดินฯ ในรอบปี 2564 อีก 1 ปีหรือไม่ ในส่วนของ กทม.รับรู้และเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้น และเห็นว่าอาจจำเป็นต้องปรับลดภาษี อย่างไรก็ตาม ได้ต่อรองว่าหากรัฐต้องการบรรเทาภาระประชาชนก็ให้ลดหย่อนภาษีเพียงแค่ 50% หากลดให้ 90% คงไม่ไหว เนื่องจากรายได้ กทม.และหน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศจะหายไปมาก ในปี 2563 มีผู้มาเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมายื่นเสียภาษีเพียงแค่ 600,000 คน จากบัญชีผู้เสียภาษีเป็นโฉนดที่ดินจำนวน 2.7 ล้านแปลง อาคารชุด 1 ล้านยูนิต และสิ่งปลูกสร้าง 3 ล้านหลัง กทม.มีรายได้เพียงแค่ 1,287 ล้านบาท ต่ำจากเป้าเดิมที่ประมาณการไว้ 14,000 ล้านบาท เนื่องจากรัฐมีมาตรการบรรเทาภาษีเยอะมาก ทำให้เก็บรายได้ไม่ได้เต็ม 100%

รายได้วูบ 1.2 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวกล่าวว่า แผนการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ในปี 2564 กทม.จะออกสำรวจ จัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประกาศ และจัดส่งบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประเมินภาษี และจะมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีให้กับผู้เสียภาษีภายในเดือน ก.พ. จากนั้นจะให้เจ้าของและผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยื่นชำระภาษีภายในเดือน เม.ย. 2564 โดยตั้งประมาณการรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้ 5,115 ล้านบาท เป็นการประมาณรายได้ภายใต้เงื่อนไขรัฐลดหย่อนอัตราภาษีที่ดินให้ 50% แต่หากรัฐให้ลดภาษีให้ในอัตรา 90% จะทำให้ภาษีที่จะเก็บได้ไม่ถึง 2,000 ล้านบาท

“รายได้ที่หายไป ทางรัฐจะสนับสนุนเงินงบประมาณให้กับแต่ละท้องถิ่น แต่คงไม่ได้ทั้งหมด เพราะมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ซึ่งในส่วนของ กทม.ขอชดเชยในรอบปีภาษี 2563 รวม 12,713 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะได้งบประมาณชดเชยในปี 2565 สำหรับปี 2564 หากรัฐลดหย่อนภาษีที่ดินฯให้ 90% เท่าเดิม ยอดจัดเก็บรายได้ของ กทม.ที่จะขาดหายไป และต้องขอชดเชยจากรัฐก็น่าจะใกล้เคียงกับปี 2563”

บ้าน-คอนโดฯในกรุงเพิ่ม

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะเดียวกัน กทม.อยู่ระหว่างให้สำนักงานเขตสำรวจ จัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับจัดเก็บภาษีในปี 2564 คาดว่าฐานจำนวนผู้เสียภาษีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2563 โดยมีที่ดินเพิ่มขึ้น 6.3% หรือ 85,950 แปลง สิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น 7.5% หรือ 105,683 หลัง สิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องชุดเพิ่มขึ้น 4.6% หรือ 24,399 ห้อง ทั้งนี้ มีที่ดินที่อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจอีก 54.9% หรือ 766,764 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 67.1% หรือ 944,378 หลัง และสิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องชุด 11.7% หรือ 62,185 ห้อง

บิ๊กธุรกิจ-ทุนใหญ่ได้อานิสงส์

ด้านแหล่งข่าวจากวงการพัฒนาที่ดินเปิดเผยว่า ไม่ว่าจะเลื่อนหรือลดอัตราภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ผู้ได้ประโยชน์คือผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภททั้งรายเล็กรายใหญ่ แต่ที่จะได้ประโยชน์สูงสุด คือ กลุ่มทุนผู้ถือครองกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศ ตึกสูง โรงแรม ศูนย์การค้า พื้นที่เช่าในเชิงพาณิชย์ ฯลฯ โดยเฉพาะผู้ที่ยังจัดการหรือดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาที่ดินไม่ทันตามกำหนด เท่ากับเป็นการต่อลมหายใจให้กับแลนด์ลอร์ดทั่วประเทศ และเป็นผลบวกกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังชะลอตัวในปัจจุบัน

มองอีกมุมต้องยอมรับว่า ผู้เสียประโยชน์จากการเลื่อนหรือลดอัตราภาษีอย่างต่อเนื่อง คือ ประเทศชาติ โดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่นจะขาดรายได้ ส่งผลต่อการพัฒนาสาธารณูปโภคสาธารณูปการ

กองรีท “เจ้าสัว” ค่าใช้จ่ายลด

ขณะเดียวกันมีอีกหลายกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ด้วย อาทิ บรรดาทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (กองรีท) ต่าง ๆ อย่างเช่นก่อนหน้านี้ บจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล รีท แมนเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อ 5 พ.ย. 2563 ถึงผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2563 โดยระบุถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่น ที่เกิดจากการบันทึกรายได้ที่เกี่ยวข้องกับค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งสอดคล้องกับการลดลงของค่าใช้จ่ายภาษีที่ดินฯ ที่บันทึกในต้นทุนการให้เช่าและบริการ ทำให้กองทรัสต์มีรายได้จากการลงทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 349.57 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ขณะที่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท ในเครือเซ็นทรัล ของ “ตระกูลจิราธิวัฒน์” รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯไว้ในคำอธิบายผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2563 ว่า ค่าใช้จ่ายในการบริหารอสังหาฯจากสินทรัพย์เดิมลดลง 22.1% สาเหตุหลักมาจากการลดลงของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90%

ด้าน บจ.เอส รีท แมเนจเม้นท์ ในเครือสิงห์ ของตระกูลภิรมย์ภักดี ในฐานะผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เอส ไพรม์ โกรท ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ฯถึงผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2563 ระบุเช่นเดียวกันว่า ค่าใช้จ่ายรวมของกองทรัสต์ลดลง 16.81 ล้านบาท คิดเป็น 26.93% จากไตรมาส 3/2562 ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการช่วยบรรเทาภาระภาษีที่ดินฯ