อัดคลิป “ทำพินัยกรรม” มีผลทางกฎหมายหรือไม่?

ภาพโดย annazuc จาก Pixabay

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทำ “พินัยกรรม” หลังมีข่าวนักร้องลูกทุ่งชื่อดังอัดคลิปยกทรัพย์สินให้เป็นสาธารณกุศลหากเสียชีวิต 

วันที่ 26 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง “หญิงลี ศรีจุมพล” ออกมาอัดคลิปประกาศว่า หากเสียชีวิตไปก่อนมีทายาท จะขอยกทรัพย์สินกว่า 50 ล้านบาท ให้เป็นสาธารณกุศล

โดยทรัพย์สินของ บริษัท ลั้ลลากรุ๊ป จำกัด ได้แก่ อาคาร 3 คูหา 6 ชั้น ย่านสายไหม จะยกให้เป็นของมูลนิธิเด็กกำพร้า โดยส่งต่อหน้าที่ให้พิธีกรชื่อดัง “บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี” เป็นผู้จัดการ

ส่วนรีสอร์ตมูลค่ากว่า 20 ล้านใน จ.บุรีรัมย์ ให้ขายทอดตลาด นำเงินเข้า “มูลนิธิหญิงลั้ลลา” ส่วนพ่อแม่จะได้เงินจากการเสียชีวิตจากประกันมูลค่า 10 ล้านบาท รวมถึงรถทุกคันและบ้านที่อยู่ติดกันที่สายไหม รวมทรัพย์สินทั้งหมดกว่า 50 ล้านตกเป็นของสังคม

เพื่อเป็นความรู้สำหรับผู้อ่าน “ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบข้อกฎหมายเรื่อง “พินัยกรรม” อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า การทำพินัยกรรมด้วยตัวเอง มีทั้งหมด 5 วิธี ด้วยกัน ดังนี้

  1. พินัยกรรมแบบธรรมดา

  • ต้องทำเป็นหนังสือ โดยจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้
  • ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ
  • ต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน พร้อมกัน โดยจะลงลายมือชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือก็ได้
  1. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ

  • ต้องเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับ ใช้พิมพ์ไม่ได้
  • จะมีพยานหรือไม่มีก็ได้
  • ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ
  • ต้องลงลายมือชื่อ จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือ หรือ เครื่องหมายอื่นไม่ได้
  1. พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง

  • ยื่นคำร้องขอให้นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต ณ อำเภอ หรือเขตใดก็ได้ ดำเนินการให้
  1. พินัยกรรมทำแบบเอกสารลับ

ยื่นคำร้องขอให้นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต ณ อำเภอ หรือเขตใดก็ได้ โดยปฏิบัติดังนี้

  • ต้องมีข้อความเป็นพินัยกรรมและลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม
  • ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรม แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึก
  • ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้น ไปแสดงต่อนายอำเภอและพยานอย่างน้อย 2 คน
  • เมื่อนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขตจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมมาแสดงไว้ในซองพับและประทับตราประจำตำแหน่งแล้ว นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต ผู้ทำพินัยกรรม และพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น
  1. พินัยกรรมทำด้วยวาจา

ใช้เฉพาะกรณีที่เกิดเหตุการณ์พิเศษ ไม่สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่นได้ เช่น ตกอยู่ในอันตราย ใกล้เสียชีวิต เกิดโรคระบาด หรือ สงคราม ทั้งนี้ พินัยกรรมจะหมดอายุภายใน 1 เดือน นับจากผู้ทำพินัยกรรมกลับมาทำพินัยกรรมแบบอื่นได้

  • แสดงเจตนาต่อหน้าพยาน อย่างน้อย 2 คน ซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น
  • พยานทั้งหมดต้องไปแสดงตน และแจ้งให้นายอำเภอทราบถึงข้อความพินัยกรรม และสาเหตุที่ต้องทำพินัยกรรมด้วยวาจา

นอกจากนี้ ควรระวังเรื่องการทำพินัยกรรม แบบที่ต้องมีพยานและแบบที่ให้คนอื่นเขียน เพราะพยานและคนเขียน (รวมทั้งคู่สมรสตามกฎหมายของทั้งคนเขียนและพยาน) จะไม่มีสิทธิได้รับมรดก เพราะฉะนั้นถ้าจะยกมรดกให้ใคร ก็อย่าให้เขามาเป็นคนเขียนหรือพยาน และถ้าไม่อยากให้คนรับมรดก ต้องเสียภาษีมรดก ก็ควรทำพินัยกรรมโดย กระจายมรดกให้คนละไม่เกิน 100 ล้านบาท เพราะไม่อย่างนั้นคนรับมรดกจะต้องเสียภาษีอัตรา 5% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท สำหรับบุพการีและผู้สืบสันดาน นอกนั้นจะเสียในอัตรา 10% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท

แต่ถ้ากลัวว่า ให้มรดกไปแล้วลูกหลานจะไม่ ดูแล ก็สามารถไป จดทะเบียนสิทธิเก็บกิน” บนอสังหาริมทรัพย์ที่เรายกให้ลูกหลานได้ที่สำนักงานที่ดิน (ทำต่อจากการจดทะเบียนยกให้ได้ทันที) เพื่อให้เรายังมีสิทธิอยู่อาศัย และใช้ประโยชน์ต่อไปได้ตลอดชีวิต

ผู้ที่จะเขียนพินัยกรรม ต้องมีคุณสมบัติ 2 ข้อ

  1. มีอายุครบ 15 ปีขึ้นไป
  2. ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

สำหรับพินัยกรรมที่ได้รับความนิยมในการเขียนมากที่สุด เว็บไซต์ กรุงไทยแอกซ่า ระบุว่าคือ แบบที่ 1 (พินัยกรรมแบบธรรมดา) และ แบบที่ 2 (พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ) เนื่องจากแบบที่ 3, 4 และ 5 นั้น เป็นแบบที่ต้องมีเจ้าหน้าที่อำเภอหรือผู้ที่รับผิดชอบต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องหรือจัดทำให้ ซึ่งมีขั้นตอนมาก อาจต้องเสียค่าธรรมเนียม และต้องมีพยานหลักฐานต่าง ๆ ด้วย

โดยการทำพินัยกรรมในแบบที่ 1 และแบบที่ 2 หากทำไปโดยมีข้อบกพร่องในการทำพินัยกรรมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจจะทำให้พินัยกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ และทำให้ต้องกลับไปสู่การแบ่งปันทรัพย์มรดก ในแบบปกติ คือ การร้องขอต่อศาล เพื่อแต่งตั้งผู้จัดการมรดก และจะต้องได้รับความยินยอมจากทายาทโดยธรรมทุกคน เพื่อให้ผู้จัดการมรดกนำมรดกทุกอย่างมาแบ่งปันให้แก่ทายาทโดยธรรมอย่างถูกต้อง

และในกรณีที่ไม่สามารถตกลงในเรื่องของมรดกได้ สุดท้ายจะต้องนำมรดกต่าง ๆ นำออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาแบ่งปันให้แก่ทายาทโดยธรรมทุกรายโดยเท่าเทียมกันนั่นเอง

ตัวอย่างการเขียนพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมเขียนกันมาก มีหัวข้อหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

  1. ชื่อพินัยกรรม
    2. สถานที่ทำพินัยกรรม
    3. วัน/เดือน/ปี ที่ทำพินัยกรรม
    4. ชื่อ-นามสกุล และอายุ ของผู้ทำพินัยกรรม
    5. ที่อยู่ของผู้ทำพินัยกรรม
    6. ข้อความว่าชี้แจงทรัพย์สิน และมรดก ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
    7. รายชื่อผู้ที่จะได้รับมรดก
    8. ข้อความรับรองว่าพินัยกรรมทั้งหมดเป็นความจริง และผู้เขียนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีทุกประการ
    9. ลงชื่อผู้ทำพินัยกรรม

สำหรับตัวอย่างพินัยกรรมแบบธรรมดาและแบบเขียนเองทั้งฉบับ สามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่ 

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามกฎหมาย การอัดคลิปประกาศยกทรัพย์สินผ่านทางโซเชียลของ “หญิงลี” ถือว่าไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด เว้นแต่จะดำเนินการตาม 5 วิธีที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น