ศบค. สั่งตั้งด่านตรวจ “เช้านี้” คุมเข้มเดินทางข้ามพื้นที่ ฝ่าฝืนทั้งจำ-ทั้งปรับ

ตำรวจตั้งด่าน
FILE PHOTO : Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ศบค. สั่งหน่วยงานด้านความมั่นคง ตั้งด่านตรวจ เช้านี้ คุมเข้มการเดินทางข้ามพื้นที่ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ผิด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน – พ.ร.บ. โรคติดต่อ โทษสูงสุด ทั้งจำ-ทั้งปรับ 

วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 06.00 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตราการจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 10 จังหวัด ตามมติของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ครั้งที่ 9/2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวานนี้

ในวันนี้ ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป หน่วยงานด้านความมั่นคง ได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัด และชุดลาดตระเวน เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติ การเดินทางข้ามพื้นที่อย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า มีผู้ฝ่าฝืนจากมาตราการจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 10 จังหวัด ให้บังคับใช้บทลงโทษตามแห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

ผิด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดนอะไร

ข้อมูลจาก ราชกิจานุเบกษา พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระบุว่า กรณีผู้เสียหายจากการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่สามารถฟ้องคดียังศาลปกครองได้ และเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด “เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น” ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในมาตรา 17

ขณะที่ ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามกฎหมายนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในมาตรา 18

พ.ร.บ.โรคติดต่อ กำหนดโทษอย่างไร

ข้อมูลจากราชกิจานุเบกษา พระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้ระบุบทกําหนด หมวด 9 ไว้ดังนี้ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของคณะกรรมการ คณะกรรมการด้านวิชาการ หรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา 18 หรือคําสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ตามมาตรา 22 (6) หรือคําสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 28 (6) หรือคําสั่งของเจ้าพนักงาน ควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 45 (1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ในมาตรา 49

ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินสองหมื่นบาท ในมาตรา 50

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34 (1) (2) (5) หรือ (6) มาตรา 39 (1) (2) (3) หรือ (5) มาตรา 50 (5) หรือไม่อํานวยความสะดวก แก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 39 (4) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ในมาตรา 51

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34 (3) (4) (7) หรือ (8) หรือมาตรา 40 (3) หรือ (4) หรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ในมาตรา 52

ผู้ใดไม่อํานวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามมาตรา 38 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ในมาตรา 53

เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงาน ควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 40 (๒) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และผู้ใดขัดขวางหรือไม่อํานวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 45 วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ในมาตรา 54

สำหรับผู้ที่ขัดขวางหรือไม่อํานวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 45 วรรคสาม จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ในมาตรา 55

ผู้ใดไม่มีสิทธิที่จะสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา ๔๖ กระทําการเช่นนั้นเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ ต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ในมาตรา 56

บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือมีโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอํานาจเปรียบเทียบได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบที่คณะกรรมการกําหนด ในมาตรา 57

เมื่อผู้ต้องหาได้ชําระเงินค่าปรับตามจํานวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา