หมอธีระวัฒน์ ชี้โควิดจากสัตว์มาคน เป็นเรื่องที่ไม่ต้องตกใจ

หมอธีระวัฒน์ ชี้โควิดจากสัตว์มาคน เป็นเรื่องที่ไม่ต้องตกใจ
ภาพจาก pixabay

นพ.ธีระวัฒน์ ชี้โควิดจากสัตว์มาคนเป็นเรื่องที่ไม่ต้องตกใจ แนะเฝ้าระวังในมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญเมื่อเกิดโรคติดเชื้อ

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 เรื่อง “โคโรนา และโควิด หมามาคน: เรื่องที่ต้องไม่ตกใจ” ผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า

ความสามารถของเชื้อโควิด-19 จากคนไปสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นที่ทราบกันตั้งแต่เดือนมีนาคม เมษายนของปี 2563 และมีการติดตามและทราบกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่าง ๆ ตามการติดตามขององค์การอนามัยสัตว์โลก และรายงานการศึกษาจากหลายคณะ ของสัตว์ที่จะมีการติดเชื้อจากมนุษย์ได้ง่าย ยาก ตั้งแต่เสือ แมว หมาและแม้กระทั่งตัวมิ้ง

ซึ่งพบมีการติดเชื้อในฟาร์มในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ในปี 2563 และนำไปสู่การฆ่าตัวมิ้งหลาย ล้านตัว ซึ่งในที่สุดก็ระงับไปและเป็นการปฏิบัติที่อาจไม่สมควรโดยที่การแพร่เชื้อจะมิ้งมายังมนุษย์ ไม่มากและไม่เกิดอาการ

สำหรับในสัตว์โดยเฉพาะหมาแมวมีการรายงานตั้งแต่ปี 2563 เรื่อยมา โดยติดจากคน ทั้งนี้ หมา แมวไม่จำเป็นที่จะต้องมีอาการก็ได้และการแพร่มาสู่มนุษย์ยังไม่มีประสิทธิภาพและในคนที่ติดเชื้อที่กลับมาจากสัตว์ไม่พบเป็นปัญหา ดังที่มีการติดตามตั้งแต่มีการระบาดทั่วโลกตั้งแต่ปีที่แล้วจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

แต่ทั้งนี้ยังคงเป็นการเฝ้าระวังในมนุษย์เป็นสำคัญเมื่อเกิดโรคติดเชื้อ มีความจำเป็นที่ต้องสามารถระบุเชื้อนั้นได้จะทำให้ทราบที่มาของต้นตอ

ปรากฏการณ์ของไวรัสโคโรนาจากหมาและไม่ใช่เชื้อโควิด-19 มีตั้งแต่ปี 2017 และ 2018 จากอาสาสมัครที่ไปช่วยภัยพิบัติที่ประเทศเฮติและหลังจากนั้นมีอาการไม่สบาย

ต่อมา มีผู้ป่วยแปดรายที่ประเทศมาเลเซียด้วยปอดบวมโดยเจ็ดรายเป็นเด็กเกิดขึ้นในปี 2017-2018
และพิสูจน์ในปี 2021 ว่าเกิดจากโคโรนาไวรัสของหมา อัลฟาโคโรนา canine enteric coronavirus ซึ่งคล้ายจากแมว หมู feline corona และ swine transmissible gastroenteritis virus และ SARS like coronavirus

โดยในหมามี เบต้า betacorona ด้วย ซึ่งคล้าย ในคน คือ OC 4 ดังนั้นยังไม่ควรตกใจเพราะแท้จริง ก็มีไวรัสมากหน้าหลายตาที่ก่อโรคในคนที่เราไม่ทราบชื่ออยู่แล้ว หน้าที่ก็คือ

  1. รักษาสุขภาพของเราและของสัตว์ และรวมถึงสัตว์เลี้ยง
  2. ถ้าเกิดมีอาการผิดปกติไม่ว่าเป็นอาการทางระบบหายใจ ทางสมอง ทางท้องเสีย ในคนและสัตว์ก็คือหาสาเหตุให้ได้โดยเร่งพัฒนาวิธืการหาเชื้อให้ได้ แม้จะไม่เคยเจอมาก่อน
  3. ความท้าทายก็คือ วิธีนั้น ๆ จะต้องประหยัดและราคาถูกในที่สุด

และท้ายสุดประการสำคัญก็คือ ความตื่นตระหนกโดยเกินเหตุจะทำให้เกิดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหมาแมว ซึ่งเป็นเรื่องต้องไม่กระทำ รวมกระทั่งปล่อยหมาแมวออกไปกลายเป็นสัตว์จรจัดและเกิดปัญหาตามติดมาอีกมากมาย

ปศุสัตว์ยัน ไม่มีหลักฐานการแพร่เชื้อ

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงกรณีการเผยแพร่ข่าวทางเฟซบุ๊ก การพบการติดเชื้อ COVID-19 ของสุนัขและแมวในไทย โดยอ้างอิงว่ามาจากงานวิจัยทีมคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในวารสารวิชาการ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาว่า ตรวจพบการติดเชื้อในสุนัข 3 ตัว จากการตรวจ 35 ตัว และแมว 1 ตัว จากการตรวจ 9 ตัว

โดยทั้งหมดเป็นการตรวจสัตว์เลี้ยงในครัวเรือนที่มีเจ้าของติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งมีเพียงสุนัข 1 ตัวเท่านั้นที่แสดงอาการเล็กน้อย ส่วนสัตว์เลี้ยงที่เหลือไม่แสดงอาการ ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เกิดความกังวลและสร้างความตระหนกต่อเจ้าของสัตว์เลี้ยงในไทยอย่างมากถึงความสามารถถ่ายทอดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงกลับไปยังเจ้าของสัตว์ได้

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ขอให้ผู้เลี้ยงสัตว์ทุกท่านอย่าตื่นตระหนกและไม่ละทิ้งสัตว์เลี้ยง ซึ่งการทิ้งสัตว์เลี้ยงเป็นการเข้าข่ายผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดยเน้นย้ำว่าในปัจจุบันสามารถระบุได้เพียงว่าสุนัขและแมวสามารถติดเชื้อโควิด-19 จากคนป่วยได้เท่านั้น ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลว่าสามารถแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยงกลับสู่คนได้