เชื่อม รถไฟไทย-ลาว ไร้รอยต่อ กรมรางปักหมุดหนองคายบูม “ย่านนาทา”

หนองคาย

มาช้าดีกว่าไม่มา กระทรวงคมนาคมจัดทีมลงพื้นที่ติดตามการเชื่อมโยงรถไฟระหว่างไทย-ลาว

เหตุเกิดจากการเปิดวิ่งเป็นทางการรถไฟฟ้าข้ามชาติ เส้นทางเวียงจันทน์-คุนหมิง รถไฟฟ้าที่ประเทศจีนทุ่มทุนสร้างจึงมีชื่อเรียกเป็นทางการว่ารถไฟจีน-ลาว ดีเดย์วันชาติ สปป.ลาวเมื่อ 3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

ในมุมมองกระทรวงคมนาคมของไทย สปป.ลาวมีพรมแดนติดต่อกัน ความพยายามที่จะเชื่อมเส้นทางรถไฟจีน-ลาวดังกล่าว จึงเรียกกลับด้านว่าเป็นเส้นทาง “รถไฟลาว-จีน” เพราะสร้างความคุ้นเคยแบบง่าย ๆ ด้วยภูมิศาสตร์ความเป็นประเทศเพื่อนบ้านไทย-ลาวนั่นเอง

เชื่อมรถไฟ “ไทย-ลาว-จีน”

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6-7 มกราคม 2565 บิ๊กกรมราง “ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) จัดคณะลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย เพื่อเตรียมแนวทางดำเนินงานรองรับการขนส่งสินค้าและการเดินทางข้ามแดน ระหว่างไทย-ลาว-จีน ให้เป็นไปอย่างไร้รอยต่อ

โดยรถไฟลาว-จีน มีเส้นทางเชื่อมโยงจาก สปป.ลาว ไปถึงชายแดนจีนที่เมืองบ่อเต็น ซึ่งจะเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีนไปจนถึงเมืองคุนหมิง ถือเป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมโยงและรองรับการขนส่งสินค้า และการเดินทางข้ามแดนระหว่าง 3 ประเทศ “ไทย-ลาว-จีน” ในอนาคต

สำหรับการเชื่อมโยงรถไฟระหว่างไทย-ลาวนั้น ฝ่ายไทยมีแนวทางบูรณาการเชื่อมต่อในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วง “หนองคาย-เวียงจันทน์” ให้มีความเหมาะสม และเตรียมความพร้อมรองรับการขนส่งสินค้า โดยสามารถจัดขบวนรถได้ถึง 14 ขบวน/วัน ขบวนละ 25 แคร่

แม้ว่าปัจจุบันการขนส่งสินค้าและการเดินทาง ยังมีปริมาณไม่เต็มศักยภาพที่รองรับได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่แต่ละประเทศมีนโยบายป้องกันและควบคุมโรคระบาดอย่างเคร่งครัด

สภาพปัจจุบัน การขนส่งสินค้าจึงเป็นการจัดขบวนตามความต้องการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการที่เป็นลักษณะของการขนส่งผ่านแดนเป็นส่วนใหญ่

สถิติตัวเลขการส่งออกสินค้าผ่านชายแดนหนองคายเปรียบเทียบเดือนธันวาคมปี 2563 กับเดือนธันวาคมปี 2564 (ช่วงที่มีการเปิดบริการรถไฟลาว-จีน) พบว่า มีปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นจาก 116,552 ตัน เป็น 304,119 ตัน มูลค่าจาก 4.64 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 6.91 พันล้านบาท

แนวโน้มทางรถไฟลาว-จีนสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจก้อนมหึมาในอนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นจึงได้บูรณาการทำงานเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าและการเดินทางข้ามแดน “ไทย-ลาว-จีน” ให้เป็นไปอย่างไร้รอยต่อให้ได้

หนองคาย

80 ไร่รับสินค้าข้ามแดน

เบื้องต้น คณะกรมรางได้รับฟังข้อคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและผู้ประกอบการในพื้นที่ พร้อมกับร่วมหารือแนวทางเพื่อขจัดข้อติดขัดในการขนส่ง ทั้งด้านกฎระเบียบ การบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ ลดค่าใช้จ่ายการขนส่งในภาพรวม การส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อให้ใช้บริการขนส่งทางรถไฟร่วมกับการขนส่งทางรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อใช้สะพานหนองคายเดิม และจัดหาพื้นที่รองรับการขนถ่ายสินค้าในระยะเร่งด่วน โดยจะพัฒนา “สถานีหนองคาย” ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม ซึ่งมีการเตรียมพื้นที่บริเวณสถานี 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ

และการเปลี่ยนถ่ายจากทางถนนสู่ระบบราง (ฟีดเดอร์) ซึ่งจะเปิดให้เอกชนเช่าบริหารจัดการพื้นที่ 4 แปลง อีก 1 แปลงเป็นพื้นที่ส่วนกลาง รวม 5 แปลง

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.จะดำเนินการปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานยกขนสินค้า โรยหินคลุกและบดอัดความหนา 10 เซนติเมตร ตลอดจนจัดเตรียมพื้นที่สำหรับติดตั้งเครื่อง mobile X-ray inspection system เพื่อตรวจปล่อยสินค้าและทำพิธีการศุลกากรต่อไป

นาทา หนองคาย

ลานเปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา

คณะของ “ดร.พิเชฐ” ยังได้ลงพื้นที่ “ย่านนาทา” ซึ่ง ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างเตรียมพัฒนาให้เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า (เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต) มีการออกแบบรายละเอียดงานโยธาในโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (เฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) โดยได้ออกแบบ “ย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา” รวมอยู่ในช่วงดังกล่าว

ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย ซึ่งจะคัดเลือกเอกชนผู้เข้าร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป