หัวรถจักร “อุลตร้าแมน” ลอตแรก 20 คันรองรับรถไฟทางคู่

หัวรถจักร

สั่งซื้อปี 2563 ส่งมอบลอตแรก 20 คันตามกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

และจากลักษณะหัวรถจักรที่มีสีแดง-เทาคล้ายกับชุดของอุลตร้าแมน ทำให้มีการเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเป็นรุ่น “อุลตร้าแมน”

เรากำลังพูดถึง “หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า” (diesel electric locomotive) รุ่นใหม่ล่าสุด (CDA5B1) น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ ระยะที่ 1 จำนวน 20 คัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการรองรับโครงการรถไฟทางคู่ที่จะเปิดใช้งานในอนาคต

โดยมี “นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นประธานรับมอบรถจักรดีเซลไฟฟ้าจากกิจการร่วมค้า “เอสเอฟอาร์” (บริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด-บริษัท ริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด) เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2565

ถือเป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่ คุณภาพสูง ผลิตโดยบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซิชูเยียน (CRRC Qishuyan) ประเทศจีน มีเครื่องยนต์ที่ผลิตจากประเทศเยอรมนี จะนำมาใช้ทดแทนรถจักรเดิมที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน บางคันเกิน 50 ปี

หัวรถจักร

การได้มาซึ่งรถจักรในครั้งนี้ จะช่วยให้การรถไฟฯมีรถจักรเพียงพอต่อการให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าได้มากขึ้น

ก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.เปิดประกวดราคาและลงนามในสัญญาจัดหาหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าจำนวน 50 คัน วงเงิน 6,525 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563

มีกำหนดเวลาส่งมอบรถจักร 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ไม่น้อยกว่า 20 คัน ภายใน 540 วัน นับจากวันลงนามหรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ระยะที่ 2 ที่เหลืออีก 30 คัน ส่งมอบภายใน 915 วัน หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

คุณสมบัติมีกำลังเครื่องยนต์สูงสุด 3,263 แรงม้า (2,400 kW) จุดเด่นถูกออกแบบและผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย มีสมรรถนะในการลากจูงขบวนรถโดยสารได้ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลากจูงขบวนรถสินค้าที่ความเร็วสูงสุด 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง

มีการติดตั้งระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (Automatic Train Protection-ATP) รองรับกับมาตรฐาน ETCS level 1 : (European Train Control System : ETCS) จากเดิมรถจักรในปัจจุบันใช้แบบ Pneumatic air brake system ซึ่งทำให้การซ่อมบำรุงรักษาที่ง่ายขึ้นกว่ารถจักรแบบเก่า

อีกทั้งรูปแบบแคร่รถจักร Co-Co (เป็นรูปแบบ 6 เพลา ชุดละ 3 เพลา) สามารถวิ่งบนเส้นทางมาตรฐานของ ร.ฟ.ท.

สำหรับตำแหน่งพนักงานขับรถ (พขร.) อยู่ทางด้านขวาของตัวรถ ติดตั้งระบบกล้อง CCTV เพื่อบันทึกเหตุการณ์ด้านหน้ารถจักรและเครื่องพ่วง เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเดินรถอีกด้วย

ตามแผนการใช้งานจะนำไปวิ่งให้บริการในเส้นทางรถไฟทางไกล เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทั่วประเทศ

“รถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี เป็นรถจักรที่มีความทันสมัย มีสมรรถนะการใช้งานที่ดีกว่าเดิม ช่วยให้การขนส่งสินค้าและผู้โดยสารมีความรวดเร็ว ปลอดภัย ช่วยสร้างโอกาสในการหารายได้ของการรถไฟฯ”