โอมิครอนกลายพันธุ์ใหม่ในไทย รามาฯอัพเดตข้อมูล-ตอบคำถามล่าสุด

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาฯ ตอบคำถาม นำเสนอข้อมูล โอมิครอนกลายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 ทำให้ “ประชาชนตื่นตกใจ” และไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมหรือไม่ ระบุเป็นนโยบายเชิงรุก หรือ “ซอฟท์ พาวเวอร์” นำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ เผยตัวเลขผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 ในไทย รวม 106 ราย

วันที่ 24 มิถุนายน 2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความในเพจ ตอบคำถามเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ของโอไมครอน(omicron:โอมิครอน)สายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และไวรัสฝีดาษลิง (ปรับปรุง 24/6/2565 เวลา 8:04) ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ 

คำถามที่สอบถามศูนย์จีโนมฯเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และไวรัสฝีดาษลิง

Q4 : อะไรที่แย่ยิ่งกว่าการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง?
A4 : การติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงสองสายพันธุ์พร้อมกัน มีรายงานว่าได้มีการเก็บตัวอย่างจากตุ่มแผลของชายสก็อตรายหนึ่งที่มีประวัติเดินไปยังเยอรมนี มาถอดรหัสพันธุ์ทั้งจีโนมของไวรัสฝีดาษลิง พบเชื้อฝีดาษลิงสองสายพันธุ์ย่อยในคนเดียวกันโดยพบการกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่งที่ต่างกัน (ภาพ4) สายพันธุ์แรกคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในเยอรมนีและสายพันธุ์ที่สองพบในอิตาลี (ภาพ 5) แสดงให้เห็นว่าเชื้อไวรัสฝีดาษลิงสามารถมีการติดเชื้อร่วมได้ (MPXV co-infection)

ฝีดาษลิงที่พบในอิตาลีกับเยอรมนี

ฝีดาษลิง 2 สายพันธุ์ที่พบในอิลาลีและเยอรมนี

Q3 : การที่ศูนย์จีโนมนำเสนอข้อมูลเชื้อไวรัสกลายพันธุ์บ่อยครั้งผ่านสื่อทำให้ “ประชาชนตื่นตกใจ” และอาจจะ “ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ”ของประเทศโดยรวม
A3 : การนำเสนอข้อมูลเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์แก่ประชาชนถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเชิงรุกหรือการใช้ “ซอฟท์ พาวเวอร์ (soft power)” ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ เช่นการอ้างอิงข้อมูลจากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” แทนการบังคับ (mandate) เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแล ป้องกัน และรักษาโรคโควิด 2019 (The Role of Genomic Health Literacy in COVID-19 management)

และถือเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของศูนย์จีโนมฯในการนำเสนอ “ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ปราศจากการชี้นำ” สู่ประชาชนคนไทยโดยตรงให้ได้รับรู้เพื่อเท่าทันโรค เปลี่ยนจากความตระหนกมาเป็นความตระหนัก “ประชาชนจะมีข้อมูลมากพอเพียงที่จะสามารถตัดสินใจดูแลและรักษาตนเอง” หลายคนกล่าวว่า “หนึ่งชีวิตของเขาขอมีส่วนร่วมในการตัดสิ้นใจ” การ์ดของคนส่วนใหญ่จะถูกยกสูงด้วยความสมัครใจ เมื่อการ์ดถูกยกสูงย่อมเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมติดตามมา

Q2 : จำนวนผู้ติดเชื้อ BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 ที่ตรวจพบในประเทศไทย และได้อัปโหลดขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” ปัจจุบันมีจำนวนกี่ราย
A2: จำนวนผู้ติดเชื้อ BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 ที่ตรวจพบในประเทศไทย ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม และได้อัปโหลดข้อมูลรหัสพันธุกรรมขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” ปัจจุบัน (23/6/2565) มีจำนวน 32, 49, 25 ตามลำดับ (ภาพ3) รวม 106 ราย

ผู้ติดเชื้อ BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 ที่ตรวจพบในประเทศไทย (23 มิ.ย.)

Q1 : ประเทศใดในยุโรปที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตเนื่องจากการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 มากที่สุด
A1 : โปรตุเกสกำลังเผชิญกับระบาดของโอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ระลอกใหม่โดยจำนวนผู้ติดเชื้อต่อล้านคนมีค่าเฉลี่ย 7 วันอยู่ที่ 2,043 ราย ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราผู้ป่วยรายใหม่สูงเป็นอันดับสองของโลก แม้ว่าจะลดลงบ้างจากระดับสูงสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ 2,878 (ภาพ1) โดยมีผู้เสียเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ 178 คนในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 (ภาพ2)

จำนวนผู้ติดเชื้อ BA.4, BA.5, ในโปรตุเกส

จำนวนผู้ติดเชื้อ BA.4, BA.5,