มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คร่าอิ๋งอิ๋ง สาเหตุ วิธีรักษา เป็นหนักหายขาดได้

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ภาพจาก ข่าวสด

ทำความรู้จัก “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” โรคร้ายที่พบบ่อยในคนไทย แม้เป็นระยะ 4 ก็ยังรักษาหายได้

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีอิ๋งอิ๋ง หรือ ดร.สิทธิณี กิตติสิทโธ พิธีกรชื่อดัง เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเมื่อเช้าตรู่วันนี้ 2 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจพาไปทำความรู้จักโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนไทย

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ เนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณต่อมน้ำเหลืองหรือแพร่กระจายมาต่อมน้ำเหลือง ซึ่งระบบน้ำเหลืองก็เป็นระบบหนึ่งของภูมิคุ้มกัน มีหน้าที่นำสารอาหารและเซลล์เม็ดเลือดขาวไปทั่วร่างกาย และเมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวเหล่านี้เกิดความผิดปกติ จึงทำให้เกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองขึ้นมา

ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นยังแบ่งได้หลายชนิดตามลักษณะของเซลล์มะเร็ง เช่น Hodgkin, follicular, marginal zone, small cell, diffuse large B-cell, mantle cell, T-cell, NK-T cell, Burkitt เป็นต้น

แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 พบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพียงตำแหน่งเดียว เช่น บริเวณลำคอด้านซ้าย หรือบริเวณรักแร้ด้านขวา บริเวณใดบริเวณหนึ่ง

ระยะที่ 2 พบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่สองตำแหน่งขึ้นไป แต่จะต้องอยู่ด้านเดียวกันของกระบังลม เช่น บริเวณคอด้านซ้าย และคอด้านขวา หรือคอซ้ายกับรักแร้ซ้าย

ระยะที่ 3 พบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งส่วนบนและส่วนล่างของกระบังลม เช่น มีต่อมน้ำเหลืองโตที่รักแร้ร่วมกับที่ขาหนีบ

ระยะที่ 4 โรคจะกระจายออกนอกระบบน้ำเหลือง เช่น เกิดที่ไขกระดูก หรือเนื้อเยื่ออวัยวะอื่น เช่น ตับ ปอด สมอง กระดูก

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคที่ตอบสนองดีต่อการรักษา แม้ว่าจะเป็นระยะที่สี่ก็สามารถหายขาดได้มากเมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ

สาเหตุ

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการคาดการณ์เบื้องต้นพบว่ามีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

ปัจจัยทางเคมี วัตถุทางเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น น้ำยาย้อมผม เป็นต้น

ปัจจัยทางภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีสมรรถภาพภูมิคุ้มกันโรคลดลง เช่น โรคเอดส์  โรคไขข้ออักเสบ เป็นต้น

ปัจจัยทางพันธุกรรม มีความชัดเจนที่เกิดมาจากกรรมพันธุ์ทางครอบครัว

สาเหตุจากไวรัส การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัส HIV เป็นต้น

วิธีการตรวจหา

มักพบก้อนที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ โดยก้อนเหล่านั้นจะไม่มีอาการเจ็บ บางครั้งก้อนเหล่านี้อาจไม่ใช่ก้อนมะเร็งเสมอไป เพราะอาจเป็นเรื่องของการอักเสบจากการติดเชื้อ หรืออาจเป็นตัวโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง

วิธีการตรวจหา แพทย์ทำการซักประวัติคนไข้ และตรวจร่างกายเป็นลำดับ หรือตัดชิ้นเนื้อของต่อมน้ำเหลืองออกไปตรวจทางพิษวิทยา

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง

แพทย์อายุรกรรมโลหิตวิทยาจะตัดสินใจร่วมกับแพทย์รังสีรักษา เพื่อเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับชนิดเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองและสภาพความแข็งแรงของคนไข้ ซึ่งประกอบไปด้วย เคมีบำบัด ยามุ่งเป้ามะเร็ง ฉายรังสี การปลูกถ่ายไขกระดูก ดังนั้นผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการรักษาครบทั้งสี่อย่าง ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการรักษาเพียงบางอย่าง

จำนวนครั้งในการให้ยาเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ดูแลในเคสนั้นๆ ซึ่งการรักษาโรคนี้จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลอยู่ หากตัวโรคมีความรุนแรงมากจะใช้วิธีการฉายแสงจากภายนอก หรือในคนไข้ที่มีข้อห้ามในเรื่องของการให้ยาก็จะได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้เช่นกัน โดยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะไม่ต้องผ่าตัด เนื่องจากเป็นโรคที่ตอบสนองต่อยาและแสงเคมีบำบัดมากๆ อยู่แล้ว

วิธีการดูแลตนเองสำหรับโรคนี้

ทานอาหารครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีพลังงานเยอะ เช่น ไข่ขาว หรืออาหารที่มีโปรตีนสูงก็ช่วยได้ เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ

แต่ควรหลีกเลี่ยงพวกยาชุด ยาหม้อ ยาลูกกลอน และควรออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยให้สุขภาพดี

ที่มา:  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี