กทม. เล็งเปิดบางเขตนำร่องแยกขยะ จากหน้าประตูบ้าน

กทม. เล็งเปิดบางเขตนำร่องแยกขยะ จากหญ้าประตูบ้าน

กทม. เล็งเขตนำร่องคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ เริ่มจากขยะเปียกกับขยะแห้ง พร้อมส่งเสริมบ้านเรือนและภาคเอกชนจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับและขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพจัดการขยะมูลฝอยกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง และผ่านระบบออนไลน์

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวขอบคุณคณะกรรมการฯ ทุกท่าน ที่เสียสละเวลามาช่วยกันทำงาน จริง ๆ แล้วเรื่องขยะตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้ง เป็นประเด็นใหญ่ที่ประชาชนให้ความสนใจมาก เป็นนโยบายที่เราต้องดูแล งบประมาณ กทม. เอง ถ้าดูคร่าว ๆ ใช้ไปกับการกำจัดขยะ 10,000 กว่าล้าน ขณะที่เราใช้กับการสาธารณสุขแค่ 6,000 ล้าน การศึกษา 4,000 ล้าน ฉะนั้นต้องมีวิธีที่จะบริหารจัดการขยะให้ดีขึ้น สิ่งสำคัญคือ กทม.ทำเองไม่ได้ เพราะว่าขยะมีทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง กทม. อาจจะดูเรื่องกลางทางกับปลายทางได้ แต่ภาคเอกชนเองต้นทางเป็นเรื่องสำคัญ

“เรื่องแยกขยะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด แต่คนส่วนใหญ่ไม่แยก เพราะบอกว่า กทม. เอาไปรวมกันที่รถอยู่ดี อันนี้คือจุดที่ทุกคนพูด ถ้าเราทำต้องร่วมมือกันทั้ง กทม. และภาคเอกชน นโยบายหลัก ๆ ที่เราคิดคือการแยกขยะ เริ่มจากง่าย ๆ ก่อนคือ แยกขยะเปียกกับขยะแห้ง อันนี้ต้องทำเป็นรูปธรรมให้ได้”

“กทม. ต้องพัฒนาระบบขนส่งขยะเปียกให้ดี ไม่เอาไปรวมกัน แต่ถ้าเหลือจากขยะแห้งแล้วนำไปเป็น Reuse และ Recycle จะง่ายขึ้น จริง ๆ แล้วหลายหน่วยงานอยากทำ ได้คุยกับ ปตท. ห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ อาจจะเลือกเขตบางเขตก่อน เป็นเขตชั้นใน เขตชั้นนอก เพราะสภาพพื้นที่แตกต่างกัน พัฒนาในการทำปุ๋ยหมัก การทำแปลงผัก ซึ่งอยู่ใกล้บ้านมีแหล่งที่มาที่ไป คิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราบริหารจัดการเรื่องการคัดแยกขยะได้” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลาย ๆ เรื่องเรามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องขยะอ่อนนุชที่ส่งกลิ่นเหม็น กทม.ต้องไปดูแลกระบวนการเก็บขยะให้ดี เรื่องขยะเป็นเรื่องอันดับต้นของสิ่งแวดล้อม มีเรื่องน้ำเน่า เรื่องฝุ่น เป็นคุณภาพชีวิตที่สำคัญของประชาชน สุดท้ายเรามีการลงนามสัญญาหลายระบบล่วงหน้าไปเยอะ บางโครงการ 20 ปี

ขยะจำนวนมากถูกจองวิธีการจัดการไปแล้ว การเผา การฝังกลบ การหมัก ต้องมาดูในส่วนที่เสียหรือที่เรามีโอกาสเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้ สำนักสิ่งแวดล้อมต้องให้ข้อมูลกับคณะกรรมการฯ เพื่อจัดทำแผนให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และนำไปการปฏิบัติจริง

ในที่ประชุมฯ สำนักสิ่งแวดล้อม ได้รายงาน แนวทางการจัดการขยะสำหรับสถานศึกษา แนวทางการจัดการมูลฝอยตามประเภทแหล่งกำเนิดประเภทชุมชน แนวทางการจัดการมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดประเภทอาคาร แนวทางการจัดการมูลฝอยตามประเภทแหล่งกำเนิดประเภทกิจกรรมหรือเทศกาล เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการขยะ ลดและคัดแยกขยะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อันนำไปสู่การปลูกฝังค่านิยมและสร้างวินัยในการจัดการขยะ

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชน และภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร ได้นำเสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาระบบการจัดการมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2566 – 2568

ด้านที่ปรึกษาฯ พรพรหม กล่าวในตอนท้ายว่า ตามที่คณะทำงานได้จัดทำแผนออกเป็น 4 แผน ถือว่าเป็นประโยชน์และสำคัญอย่างยิ่ง จากโจทย์อาทิตย์ที่แล้วที่เราได้รับจากท่านผู้ว่าฯ ในเรื่องของเขตนำร่องที่จะมีการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ ซึ่งแผนของคณะทำงานสามารถนำมาปรับให้สอดคล้องกับแผนที่เราจะดำเนินการ เพราะแต่ละเขตจะมีจุดที่กำหนดไว้ในแผน

เช่น โรงเรียน มีกิจกรรม มีแผนเรื่องของถนนคนเดิน หรือดนตรีในสวน เมื่อนำมาจับคู่กันจะได้ตามที่เราคิดไว้ค่อนข้างครบถ้วน ทุกคนทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เพราะเรามีเป้าหมายเดียวกันคือ ทำให้ขยะน้อยที่สุด สิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ ดีที่สุด