กอล์ฟกับการแถลงข่าวของนักกีฬา

ขึ้นแท่นปักที
พิศณุ นิลกลัด
FB : @Pitsanuofficial

 

นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสแชมป์แกรนด์สแลม 4 รายการชาวญี่ปุ่น เป็นข่าวใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อเธอถอนตัวจากเฟรนช์ โอเพ่น หลังจากชนะในรอบแรก

ก่อนแข่งรายการนี้ โอซากะวัย 23 ปีประกาศว่า ปีนี้หลังแข่งจบแต่ละนัด เธอจะไม่เข้าห้องที่เรียก press room เพื่อให้นักข่าวสัมภาษณ์เหมือนทุกปี ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพจิตของเธอ

แล้วโอซากะก็ไม่เข้าห้องแถลงข่าวหลังจากชนะในรอบแรกที่เฟรนช์ โอเพ่น ซึ่งทำให้เธอถูกปรับเงินถึง 6 แสนบาท

ฝ่ายจัดการแข่งขันและคณะกรรมการของแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการยังขู่สำทับว่า ถ้าเธอยังทำแบบนี้อีก เธออาจถูกตัดสิทธิ์จากเฟรนช์ โอเพ่น และแกรนด์สแลมรายการอื่น ๆ ในอนาคต

โอซากะตัดสินใจถอนตัวจากเฟรนช์ โอเพ่น บอกว่าเธอเป็นโรคซึมเศร้ามาตั้งแต่ได้แชมป์แกรนด์สแลมครั้งแรกที่ยูเอส โอเพ่น 2018

โอซากะได้รับความเห็นใจและคำชมว่า กล้าหาญ จากนักกีฬามากมาย ทั้งนักเทนนิสและผู้เล่นกีฬาประเภทอื่น

อย่างไรก็ตาม นักเทนนิสหลายคนบอกว่า การตอบคำถามหลังแข่งจบในเพรสรูม เป็นกฎและเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ของนักกีฬา

กฎของการแข่งขันเทนนิสระบุว่า นักกีฬาต้องร่วมการแถลงข่าว ไม่งั้นจะโดนปรับเงิน เว้นแต่มีเหตุจำเป็น เช่น เจ็บไข้ได้ป่วยทางกาย

แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องจิตใจ

ราฟาเอล นาดาล หนึ่งในนักเทนนิสที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาล บอกว่า เขาเข้าใจโอซากะ แต่สื่อทำให้เขาและนักกีฬาคนอื่น ๆ ได้รับประโยชน์อย่างที่เห็น และเป็นอยู่ทุกวันนี้

นักกอล์ฟหลายคนรวมทั้งแชมป์เมเจอร์ อย่าง มิเชล วี เวสต์ ชาวอเมริกันเชื้อเกาหลี และ ฮินาโกะ ชิบูโน จากญี่ปุ่น เห็นใจและเข้าใจโอซากะ

แต่กอล์ฟกับเทนนิสไม่เหมือนกัน กอล์ฟไม่มีกติกาว่านักกีฬาต้องร่วมการแถลงข่าวหลังจากจบรอบ

นักกอล์ฟหลายคนปฏิเสธที่จะเข้าห้องแถลงข่าวหลังจากเล่นไม่ดี ซึ่งไม่มีใครว่าอะไร เพราะรู้ดีว่าผู้เล่นเหล่านี้ไม่มีอารมณ์ที่จะคุยกับใคร

การแถลงข่าวของกอล์ฟมักจะเน้นที่คนที่ได้แชมป์, คนที่เล่นดี หรือนักกอล์ฟที่มีชื่อเสียง แน่นอนว่าคนที่เล่นดี หรือคนที่ชนะ ย่อมไม่มีปัญหาในการคุยกับนักข่าว

ปัญหาของโอซากะ คือ เธอรับมือไม่ไหว เมื่อต้องตอบคำถามของนักข่าวที่อาจถามแรงเมื่อเธอแพ้

โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ นักเทนนิสชื่อดังบอกว่า ทีมงานผู้ฝึกสอนของเขาจะเข้าไปนั่งฟังด้วยเวลาตอบคำถามในเพรสรูม เพื่อดูสภาพจิตใจของเขา

เชื่อกันว่ากรณีของโอซากะ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสื่อ ในการแข่งขันกีฬาโดยเฉพาะเทนนิส

แต่คงไม่ถึงขั้นยกเลิกการแถลงข่าว เพราะมันเป็นสิ่งที่ประชาชนสนใจ และเกี่ยวพันกับธุรกิจของการแข่งขันและสปอนเซอร์

เทนนิสอาจต้องทำแบบกอล์ฟ คือ เน้นการแถลงข่าวของคนที่ได้แชมป์ หรือคนที่ชนะในแต่ละนัด เพื่อจะได้ไม่ทำร้ายจิตใจคนที่แพ้