ยักษ์ข้ามชาติยกทัพบุกสมรภูมิอีวอลเลต

สมรภูมิอีวอลเลตปีหมู-ไม่หมู ยักษ์ข้ามชาติ “แกร็บ-Go-Jek” มาแน่ ผู้เล่นเดิมปูพรมขยายจุดบริการ-โหมโปรโมชั่น-สิทธิประโยชน์ดึงลูกค้าใช้เงินดิจิทัล “ทรูมันนี่” เร่งเกมขยายเครือข่ายร้านค้าเท่าตัวผนึกพันธมิตรระบบขนส่ง รายเล็กปรับกลยุทธ์เจาะเฉพาะกลุ่มเลี่ยงปะทะบิ๊กแบรนด์

นายธีรวัฒน์ ติลกสกุลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด (ประเทศไทย)เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สภาพการแข่งขันในธุรกิจกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ในปัจจุบันแม้ผู้ให้บริการแต่ละรายจะมีการออกโปรโมชั่น และสิทธิประโยชน์ แต่ไม่ใช่การแข่งขันกันหรือแข่งกับธนาคารแต่เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคที่ 95-96% ยังใช้เงินสดหันมาใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์

ต่างชาติเตรียมชิงแชร์

อย่างไรก็ตาม ด้วยที่ตลาดยังมีโอกาสเติบโตอีกมากทำให้ในปี 2562 นี้จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดเพิ่มแน่นอน โดยเฉพาะจากต่างประเทศ เช่น “แกร็บเพย์”ที่แกร็บกำลังผลักดัน และการเข้ามาของGo-Jek จากอินโดนีเซียที่ขยับขยายธุรกิจมายังบริการการเงิน

“ตลาดนี้ไม่ใช่สำหรับรายเล็ก ๆ ที่ไม่มีอีโคซิสเต็มหรือไม่มีแบ็กจะทำได้ดีเพราะต้องใช้กำลังในการเพิ่มร้านค้า สร้าง used case ให้ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มีการใช้งานบ่อยซึ่งทรูมีจุดแข็งที่จุดชำระเงินกว่าแสนจุดทั้งเซเว่นอีฟเลฟเว่น และร้านที่รับพร้อมเพย์ได้”

ปัจจุบันทรูมันนี่มีผู้ใช้งานประมาณ 7 ล้านราย ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มผู้ใช้เกิน 10 ล้านรายและเพิ่มจุดรับชำระเงินผ่านทรูมันนี่เป็น 3-4 แสนจุด เน้นร้านอาหารและระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งหาเอ็กซ์คลูซีฟพาร์ตเนอร์

รายเล็กปรับกลยุทธ์หนีตาย

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) ผู้ให้บริการ “บีวอลเลต” กล่าวว่า ตลาดปีนี้ยังแข่งกันสูงโดยทุกรายพยายามเพิ่มผู้ใช้งานในระบบของตนให้ได้มากที่สุด ต้องแข่งกับสถาบันการเงินด้วย หลายธุรกิจยังสร้างอีวอลเลตของตนเองให้ลูกค้าจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น เช่น แกร็บ และลาซาด้า

“การแข่งขันน่าจะรุนแรงไปอีก 3-5 ปีก่อนเหลือผู้เล่นแค่ 2-3 ราย รายเล็กคงไม่สามารถสู้ได้ เพราะไม่มีทุนและฐานผู้ใช้มากพอ ขนาดรายใหญ่บางรายยังจับมือกันเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง”

จากนี้จะเริ่มเห็นการนำอีวอลเลตมาใช้ส่งเสริมการขายมากขึ้น เช่นเดียวกับ”บีวอลเลต” ที่ปรับกลยุทธ์มาเน้นการใช้งานในวงจำกัดของ “บุญเติม” ผู้ให้บริการตู้เติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ และตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติต่าง ๆ รวมไปถึงบริการอีมาร์เก็ตเพลซ “บีมอลล์” แทนการทำตลาดในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป

ปัจจุบัน “บีวอลเลต” มีผู้ใช้ 6-7 หมื่นรายแต่ยอดใช้แอ็กทีฟแค่หลักพันราย ตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปีนี้ทั้งผู้ใช้และยอดแอ็กทีฟ

ปีหมูส่อเค้าแข่งเดือด

ด้านนายทวีชัย ภูรีทิพย์ ประธานบริหาร บริษัท ทีทูพี จำกัด ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ “ดีพ พ็อกเก็ต”(Deep Pocket) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่จดทะเบียนกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้บริการ e-Wallet ราว 20 ราย ปี 2561 ที่ผ่านมาตลาดแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งเห็นการควบรวมของผู้ให้บริการายใหญ่อย่าง mPay และ “แรบบิทไลน์เพย์” รวมถึงการเข้ามาของรายใหม่ อย่างกรณีการจับมือของธนาคารกสิกรไทยกับ LINE และแกร็บ

“ปีนี้ผู้ให้บริการ e-Wallet ยิ่งเหนื่อย ทั้งจากการแข่งขันที่แต่ละแบงก์มีแนวคิดทำ e-Wallet เอง ทำให้การแข่งขันหนักขึ้น และจากกฎเกณฑ์ด้านกฎหมายที่ทำให้ต้นทุนการทำระบบหลังบ้านสูงขึ้น ทั้งจากการเก็บภาษีออนไลน์ การทำ e-KYC ดังนั้นผู้เล่นทุกรายต้องดึงจุดแข็งของตนเองออกมา ไม่ใช่แค่โปรโมชั่น ต้องหา used case ใหม่ ๆ”

และคาดว่าจะมีผู้เล่นรายใหม่ที่เป็นสตาร์ตอัพจากต่างประเทศ ซึ่งมีทุนและประสบการณ์เข้ามาในตลาดไทยมากขึ้น แต่อาจมาในลักษณะเสริมอีโคซิสเต็มของแบรนด์เหมือนกรณีลาซาด้า และสตาร์บัคส์ที่เป็นการใช้จ่ายในวงจำกัด

สำหรับบริษัทเองยังไม่มีแผนขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าทั่วไปเช่นกัน แต่จะเน้นสร้างเครือข่ายอีวอลเลตภายใน ปัจจุบันมีลูกค้าแอ็กทีฟราว 2 แสนราย

Rabbit LINE Pay เร่งเกมบุก

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า บมจ.บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ และ บมจ.วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย ผู้ถือหุ้นบริการ “Rabbit LINE Pay” ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ณ 30 ก.ย. 2561 มีผู้ใช้บัตรแรบบิท 9.8 ล้านใบ เพิ่มขึ้น 9.3% ใน 6 เดือนที่ผ่านมา และมีผู้ใช้ Rabbit LINE Pay 4.5 ล้านราย เพิ่มขึ้น 55.2% โดยบริษัทมีแผนขยายฐานผู้ถือบัตรแรบบิท เป็น 10.5 ล้านใบ และขยายจุดให้บริการกว่า 7,440 จุด และไปในจังหวัดใหญ่เพิ่ม โดยเน้นการชำระค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน

ส่วน Rabbit LINE Pay ตั้งเป้ามีผู้ใช้เพิ่มเป็น 5.3 ล้านบัญชี โดยนำเข้าไปให้บริการในร้านค้าพันธมิตรของบัตรแรบบิท ตั้งเป้าขยายเป็น 1,017 ร้านออนไลน์ และ 5,461 QR code พร้อมตั้งจุด QR reader เพิ่มเท่าตัว คือ 5,000 จุด ภายในสิ้นปีนี้

ธปท.เผยยอดใช้อีวอลเลตพุ่ง

นอกจากนี้ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ยอดการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)ณ เดือน มิ.ย. 2561 มี 67.39 ล้านบัญชี เพิ่มจาก ม.ค. 2561 ที่มีอยู่ 54.70 ล้านบัญชี

ขณะที่มูลค่าการเติมเงินอยู่ที่ 16,270.84 ล้านบาท เพิ่มจาก ม.ค. 2561 ที่มีมูลค่า 13,088.55 ล้านบาท มูลค่าการใช้จ่ายรวม 14,984.17 ล้านบาท