เรือประมงอ่วมจ่ายฟรี 800ล้าน กฎหมายห้ามต่างด้าวออกจับปลา

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่ภาครัฐออกพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้นายจ้างคนไทยที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายปรับตัวไม่ทัน จึงมีการร้องเรียนให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมาย เนื่องจากมีบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรง ปรับตั้งแต่ 4-8 แสนบาท/คน และกระทรวงแรงงานได้เปิดให้นายจ้างไทยนำลูกจ้างต่างด้าวผิดกฎหมายมาคัดกรองหรือพิสูจน์การเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันจริง เมื่อวันที่ 24 ก.ค.-7 ส.ค. 2560 นั้น ในส่วนแรงงานประมงผิดกฎหมายที่นายจ้างนำลูกจ้างเหล่านี้มาพิสูจน์ที่กระทรวงแรงงาน มีประมาณ 3.1-3.2 หมื่นราย จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถนำลูกจ้างออกทะเลจับปลาได้ แต่นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้ลูกจ้างต่างด้าววันละ 310 บาท/วัน นับตั้งแต่วันที่นำลูกจ้างไปพิสูจน์ความเป็นนายจ้างลูกจ้างกัน มิเช่นนั้นเรือประมงที่กำลังขาดแคลนแรงงานจับปลาอย่างหนักจะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานไปอีกนาน

ขั้นตอนต่อไป ทางการไทยจะเปิดให้มีการพิสูจน์สัญชาติกัน เพื่อนำมาขอใบอนุญาตทำงานกับกระทรวงแรงงาน หรือสำนักงานแรงงานจังหวัด จากนั้นจึงจะนำหลักฐานไปขอหนังสือคนประจำเรือ หรือซีบุ๊ก กับกรมประมง หรือประมงจังหวัดนั้น ๆ ที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 2 เดือน นายจ้างต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างโดยไม่ต้องทำงานเกือบ 600 ล้านบาท หากล่าช้าไปถึง 3 เดือนต้องจ่าย 800 กว่าล้านบาท

นายพิชัย แซ่ซิ้ม นายกสมาคมประมงสมุทรปราการ กล่าวว่า แรงงานผิดกฎหมายที่ขึ้นทะเบียนช่วง 15 วัน กระทรวงแรงงานจะออกใบแทนชั่วคราวให้ลูกจ้างไปพิสูจน์สัญชาติ เจ้าของเรือประมงส่วนใหญ่จะเช่าบ้านให้อยู่อาศัย รวมทั้งจ่ายค่าอาหารประจำวันให้ด้วย นอกเหนือจากค่าแรงขั้นต่ำ รวมแล้วสูงถึง 400-500 บาท/คน/วัน ดังนั้น หากอธิบดีกรมประมงผลักดันให้สำนักนายกรัฐมนตรี ออกประกาศหลักเกณฑ์ขึ้นทะเบียนแรงงานประมงได้เร็วตาม ม.83 พ.ร.ก.การประมง 2558 ในกลางเดือนกันยายนศกนี้ จะช่วยแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น