โจทย์ใหญ่ไทยแลนด์ 4.0 พัฒนาทักษะแรงงานแห่งอนาคต

ศุภชัย เจียรวนนท์-อาเบล เติ้ง

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จัดงาน “THAILAND 4.0 ประเทศไทยไปไกลกว่าที่คิด” เปิดเวทีสัมมนา โดยเชิญผู้บริหารของบริษัทต่าง ๆ มาถ่ายทอดมุมมองต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัล และการจะทำอย่างไรที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในบ้านเรามากขึ้น

ย้ำ 6 เมกะเทรนด์ท้าทาย

“ศุภชัย เจียรวนนท์” บิ๊กกลุ่มทรู ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยกล่าวถึงความท้าทายของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยว่า ประกอบไปด้วย 6 เมกะเทรนด์ คือ

1.การลดความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Capital) ผู้นำทั่วโลกต่างหวังการเข้าถึงองค์ความรู้ ระบบ e-Commerce ตลาดที่มีความโปร่งใสจะลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงโอกาส

2.Digital Transformation การเข้าสู่เศรษฐกิจ 4.0 หรือระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

3.การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การตั้งเป้าไปสู่ Net Zero และ Zero Waste ทำให้โลกอยู่ในภาวสมดุลระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม

4.การเผชิญหน้ากับเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (High Inflation) จากโควิดทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ปิดกั้นระบบการค้า และการเดินทางระหว่างประเทศ

5.มหาอำนาจทางเศรษฐกิจก้าวสู่ยุค 2 ขั้วอำนาจ เกิดทางเลือกของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่พลังงาน เงินตรา และเทคโนโลยี เกิดโลกสองขั้ว (Bipolar World)

และ 6.ด้านสุขภาพ การแพร่ระบาดของโควิดทำให้โลกตระหนักรู้ และนำทุนมหาศาลขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขและการแพทย์

อย่างไรก็ตาม หากมองพัฒนาการของเศรษฐกิจจากยุค 1.0 ถึง 4.0 ซึ่งเป็นยุคของการถ่ายเทข้อมูล จะเห็นว่าบริษัทเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลและบริษัทซอฟต์แวร์ต่าง ๆ กลายเป็นบริษัทชั้นนำของโลกยุคนี้ แต่ถ้ามองไปไกล ๆ จะพบว่าสิ่งที่มาทดแทน ไม่ว่าจะเป็น ทอง น้ำมัน เงินตรา หรือ “ข้อมูล” ล้วนผูกอยู่กับ “เทคโนโลยี” ดังนั้นประเทศที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและส่งออกเทคโนโลยีได้จะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

เทคโนโลยีพลิกโฉมประเทศ

“เทคโนโลยี” จึงกลายเป็น “ทอง หรือน้ำมัน” ยุคใหม่ ที่ต้องมาจัดการข้อมูลมหาศาล ซึ่งต้องมีบุคลากรที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งในยุคเศรษฐกิจ 5.0 ในอนาคตต้องผสมผสานไปกับเรื่องสุขภาพและความยั่งยืน

เมื่อหันกลับมาที่ประเทศไทย เทคโนโลยีที่มีความเกี่ยวข้อง ถ้าจะผลักดันให้เป็น Tech Hub คือ 1. Electric Vehicles (EVs) ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหลายคนเรียกว่า Computer on Real

2. Digital Cloud Technology เช่น Amazon ล่าสุด Microsoft ถ้ามาตั้งในไทยได้จะทำให้เป็น Hub ด้าน Digital Cloud Technology และโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของระบบเศรษฐกิจ 4.0

3. การสร้าง Innovation Cluster ทั้งฝั่งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

4. การสร้าง 20,000 เทคสตาร์ตอัพ เพราะ 1 เทคสตาร์ตอัพ จะมีพนักงาน 50 คน ถ้ามี 2 หมื่น ก็จะสร้างคนที่มีทักษะดิจิทัลได้ถึง 1 ล้านคน ซึ่งจะมีการลงทุนปีละ 1 ล้านเหรียญ เท่ากับ 20 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

“ถ้าทุนจากทั่วโลกไหลเข้ามาในไทยจะทำให้เกิดนวัตกรรม และ Digital Transformation ต่าง ๆ ทำให้เราเป็น Tech Hub อย่างแท้จริง และมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเป็น Logistic Hub โดยเฉพาะถ้าเชื่อมโยงรถไฟไทย-จีนมาถึง EEC ที่มีท่าเรือ เชื่อมโยงภาคใต้ เชื่อมระหว่างมหาสมุทรได้ ไทยจะกลายเป็น Logistic Hub ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยปริยาย แค่เริ่มทั่วโลกก็เตรียมย้ายฐานมาแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการเป็นศูนย์กลางการค้าและด้านการเงิน”

พัฒนาทักษะแห่งอนาคต

ประธานสภาดิจิทัลฯกล่าวด้วยว่า อีกเรื่องที่ใหญ่มากคือความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ในภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและสงคราม ภาวะคอขวดด้าน Logistic ของโลก ตลอดจนเรื่องการกักตุนของแต่ละประเทศ ทำให้ความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แต่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมจึงเป็นศูนย์กลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว การก้าวขึ้นเป็นฮับด้านความมั่นคงทางอาหารได้ เป็นโอกาสที่ใหญ่มาก แต่ต้องทำทรานส์ฟอร์มการเกษตร นำเทคโนโลยี Smart Farming, Industrialization การเพาะปลูก เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ทำระบบ Supply Chain ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ให้โลก

อย่างไรก็ตาม ความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ยังเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด และหนีไม่พ้น Digital Transformation เช่น Smart School ทำให้เด็กเข้าถึงองค์ความรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตที่มีการคัดกรองคอนเทนต์ที่เหมาะสม การพัฒนาทักษะแรงงานในอนาคต (Future Workforce) การส่งเสริมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มีการอัพสกิล/รีสกิล พนักงาน ให้มีระดับ Skill ที่เขียนซอฟต์แวร์ได้ ไม่ต่ำกว่า 10% หรือ 3.9 ล้านคนของคนวัยทำงาน

“ทุกวันนี้เด็กจบใหม่ 5 แสนคน มีทักษะ Software ไม่ถึง 5 หมื่น และ 1 ในวิธีคือผลักดัน 20,000 Startups จะทำให้เกิดบุคลากรในระบบนิเวศ Future Workforce 1 ล้านคน”

และว่าที่สุดของความสำเร็จที่แท้จริง เกิดขึ้นจากความพร้อมของบุคลากรในประเทศ

“ศุภชัย” ทิ้งท้ายด้วยว่า “การเกิดของโลกคู่ขนานระหว่างโลก Physical และ Digital เกิดขึ้นแน่นอน โลก Digital เพิ่งเกิด แม้ยุคอินเทอร์เน็ตจะผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว แต่เทคโนโลยีไฟเบอร์และ 5G เพิ่งเกิดไม่กี่ปี โลกคู่ขนานจึงเต็มไปด้วย Unknown Possibility อะไรก็เกิดขึ้นได้ และโอกาสที่กำลังเกิดขึ้นในโลกคู่ขนานจะยิ่งใหญ่และมหาศาลเกินกว่าที่จะจินตนาการได้ และไม่มีที่สิ้นสุด เป็นโอกาสของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจดั้งเดิมที่ต้องปรับตัว และธุรกิจใหม่ ๆ”

“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุค 4.0 หรือ 5.0 ต่อไป ถ้าควบคู่ไปกับความรัก ความเมตตา การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และความเข้าใจว่า คุณค่าของเราเกิดจากการสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น ถ้าขับเคลื่อนควบคู่ระหว่างจินตนาการและความรักได้ หนทางที่จะไปย่อมสวยงามและยิ่งใหญ่”

“หัวเว่ย” ปักหลักลงทุน

“อาเบล เติ้ง” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดในการปักหมุดเทคโนโลยีใหม่ในภูมิภาค โดยหัวเว่ยมีการลงทุนด้านคลาวด์ตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว มีศูนย์ข้อมูล 3 แห่ง ลงทุนไปกว่า 1,400 ล้านบาท ทำให้สามารถให้บริการคลาวด์ที่มีประสิทธิภาพสูงได้ ล่าสุดตั้งแผนกธุรกิจพลังงาน (Digital Power) เพื่อบุกเบิกตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ตั้งศูนย์นวัตกรรม 5G ร่วมกับกระทรวงดีอีเอส และเพิ่มขีดความสามารถให้กับพันธมิตรกว่า 150 ราย สําหรับการนํา 5G มาใช้ในอนาคต

ปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่น 5G ให้องค์กรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 8 อันดับแรก

“ไทยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยกรุงเทพฯยังติด 1 ใน 10 อันดับของมหานคร 5G เช่นกันกับด้านบรอดแบนด์ที่อยู่อันดับ 5 ของโลก มาสองไตรมาสแล้ว ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดที่ดึงดูดบริษัทต่าง ๆ ให้เข้ามาลงทุน ได้”

ผู้บริหาร “หัวเว่ย” ยังพูดถึงแนวทางความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจและรัฐบาลไทยในขั้นต่อไปด้วยว่า เมื่อประเทศไทยมีการประกาศกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่เรียกว่า BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งหัวเว่ยเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะผนึกกำลังกันเพื่อเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานสะอาด เช่น แท่นซูเปอร์ชาร์จรถอีวี เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัล และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืนได้