
ในช่วงที่ผ่านมาอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงโควิด มีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หน้าใหม่เกิดขึ้นมาก เช่นกันกับการกระโดดเข้าสู่ออนไลน์ของบรรดาแบรนด์สินค้าทั้งผ่านช่องทางของตนเอง และขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ-โซเชียลคอมเมิร์ซ ปริมาณสินค้าจำนวนมาก และความหลากหลายของแพลตฟอร์มทำให้การตัดสินใจของผู้บริโภคยากขึ้นตามไปด้วย และเป็นโอกาสของเว็บไซต์ค้นหาสินค้า และเปรียบเทียบราคา
ย้อนรอยจุดเริ่มต้น
หนึ่งในนั้นคือ Priceza.com ที่เริ่มต้นมาจากวิศวกรคอมพิวเตอร์ 3 คน สร้างเสิร์ชเอ็นจิ้นค้นหาสินค้า และเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) เมื่อสิบปีก่อน (ปี 2010) ที่ไทยเป็นที่แรก ก่อนขยายไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
- ประกาศใหม่ ผลประโยชน์ตอบแทนบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตน ม.33,39
- ชัชชาติ พับ “ทางเลียบเจ้าพระยา” ดับโครงการในฝันประยุทธ์
- TRUE เกิดอะไรขึ้น ? ราคาดิ่ง-CHINA MOBILE ตัดขายทิ้ง 906 ล้านหุ้น
“ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มค้นหา และเปรียบเทียบราคาสินค้า Priceza กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า Priceza เดินหน้าสู่การเป็น Shopping Search Engine อันดับหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ใช้งานคนไทยมากกว่า 10 ล้านคนต่อเดือน และมีนักช็อปกว่า 6 ล้านรายต่อเดือน ซึ่งที่ผ่านมาได้ขยายความร่วมมือกับพันธมิตรค้าปลีกจำนวนมาก ทั้งแบรนด์ร้านค้าบนสถานที่จริง ร้านค้าปลีกออนไลน์ รวมไปถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
“ข้อดีของการเป็นแพลตฟอร์มเปรียบเทียบ ทำให้เรานำข้อมูลสินค้า ราคา และโปรโมชั่นของทุกรายที่เป็นพันธมิตรกับเรามาแสดงเพื่อสร้างการตัดสินใจที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภคได้ ทำให้ไพรซ์ซ่ากลายเป็นเครื่องมือค้นหาเพื่อช็อปปิ้งยอดนิยมของผู้ใช้”
กระทั่ง 5 ปีที่แล้วเริ่มมองเห็นโอกาสใหม่ ๆ จึงแตกออกมาพัฒนาบริการค้นหา และเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน “Priceza Money” โดยเฉพาะ
ต่อยอดสู่ Priceza Money
“สิรวิชญ์ ฉายะวาณิชย์” Head of Priceza Money กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า เดิม Priceza เป็นเว็บเปรียบเทียบสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์, มือถือ ซึ่งสินค้าเหล่านั้นไม่มีความต่างในแง่ตัวผลิตภัณฑ์ เช่น คนอยากได้ไอโฟน ในแง่ตัวผลิตภัณฑ์ก็จะเป็นไอโฟนเหมือนกัน ต่างกันตรง “ราคา” ตรงข้ามกับผลิตภัณฑ์ด้านการเงินที่จะมีความซับซ้อนในตัวผลิตภัณฑ์ที่แต่ละสถาบันการเงินออกแบบมา ทำให้ผู้บริโภคต้องค้นคว้าข้อมูลค่อนข้างมาก ขณะที่ความรู้ด้านการเงินของคนไทยยังมีไม่มากจึงเป็นช่องว่างทางการตลาด
“ความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์การเงิน เป็นช่องว่างสำคัญให้เกิดบริการเปรียบเทียบ รวมไปถึงการรวบรวมคอนเทนต์ต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การเงิน”
โฟกัสประกันรถยนต์
ด้วยความที่ผลิตภัณฑ์ด้านการเงินมีความหลากหลายมาก เมื่อทำมาสักพักจึงพบว่าควรปรับโฟกัสมาที่ผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง นั่นคือ “ประกันภัยรถยนต์” เนื่องจากในช่วงวิกฤตโควิด-19 ผู้คนเริ่มหันมาค้นหาผลิตภัณฑ์ประกันภัยบนช่องทางออนไลน์มากขึ้น
ขณะที่บริษัทประกันก็เริ่มทำตลาดประกันออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน ทำให้ตลาดประกันรถยนต์ออนไลน์เติบโตก้าวกระโดด โดยในปี 2563 การซื้อขายประกันรถยนต์ออนไลน์ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 223.41% แม้ปี 2564 จะโตลดลง -33.87% จากปี 2563 แต่ยังเห็นเเนวโน้มขาขึ้น ดังจะเห็นได้จากบริษัทประกันรายใหญ่อย่าง “วิริยะประกันภัย” ลงมาทำการตลาดออนไลน์ ผ่านการทำ SEO (Search Engine Optimization) และการสร้างคอนเทนต์ที่มีสาระเพื่อสื่อสารไปยังลูกค้า ทั้งที่ช่องทางการทำตลาดปัจจุบันยังคงขายผ่านตัวแทน และนายหน้าเป็นส่วนใหญ่
หลังโควิด-19 พฤติกรรมการซื้อประกันภัยรถยนต์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเดิมเน้น “ราคาถูก” เป็นหลัก กระทั่งปลายปีที่แล้วต่อมาถึงปีนี้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกบริษัทที่มีชื่อเสียงดี มีความน่าเชื่อถือ แม้ขายเบี้ยแพงกว่า ซึ่งคาดว่าเทรนด์ “การเลือกบริษัทประกันก่อนราคา” จะยังคงอยู่ต่อไป
ตอบโจทย์แต่ละประเทศ
“สิรวิชญ์” กล่าวด้วยว่า Priceza Money มีโมเดลการทำรายได้สองทาง คือ ค่าโฆษณาจากเว็บไซต์ และค่าคอมมิชชั่น จากการเชื่อมโยงผู้ใช้ในเว็บไซต์กับโบรกเกอร์หรือบริษัทประกัน มีจุดแข็งด้านการเป็นแพลตฟอร์มเปรียบเทียบที่รวมประกันของทุกบริษัทไว้ที่เดียว มีฐานข้อมูลมหาศาล
“ผู้ใช้ไม่ต้องสมัครสมาชิก แค่เข้าเว็บไซต์ เลือกยี่ห้อรถ รุ่น ปี ก็เปรียบเทียบ แผนประกันเฉพาะรุ่น และปีนั้น ๆ ได้จากฐานข้อมูล สนใจอันไหนก็เชื่อมโยงไปหาผู้ขายประกันนั้น ๆ ได้เลย”
“ธนวัฒน์” ทิ้งท้ายด้วยว่า Priceza ให้บริการในหลายประเทศ แต่ละประเทศจะมีบริบทและความต้องการต่างกัน การออกแบบบริการจึงจะพิจารณาจากความต้องการในประเทศนั้น ๆ เช่น อินโดนีเซีย ประกันภัยรถยนต์ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าในไทย