“แอลจี” คัมแบ็กตลาดพีซี เจาะพรีเมี่ยมเซ็กเมนต์ท้าชนคู่แข่ง

ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ทั่วโลกเผชิญสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก ทั้งจากสินค้าล้นคลัง ในขณะที่ความต้องการซื้อลดลงต่อเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ ทำให้ยอดขายพีซีในตลาดโลกลดลงเป็นประวัติการณ์ถึง 2 ไตรมาสติดต่อกัน

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้ “แอลจี อีเลคทรอนิคส์” ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่จากประเทศเกาหลี เปลี่ยนความตั้งใจที่จะกลับเข้าสู่ตลาดคอมพิวเตอร์อีกครั้ง เริ่มใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ด้วยแล็ปทอปรุ่นเรือธง LG Gram

คัมแบ็กเจาะตลาดพรีเมี่ยม

“จีรภา คงสว่างวงศา” รองประธานบริหารฝ่ายธุรกิจกลุ่มลูกค้าองค์กรและไอที ภาคพื้นอินโดไชน่า บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตัวเลขการคาดการณ์การใช้จ่ายด้านไอทีในปี 2566 ในตลาดโลกอยู่ที่ 4.49 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากปีที่แล้ว 2.4% ส่วนในประเทศไทยจะอยู่ที่ 9.34 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 4.2% ซึ่งการเติบโตส่วนใหญ่มาจากดาต้าเซ็นเตอร์, ซอฟต์แวร์, บริการด้านไอที และบริการด้านการสื่อสาร ขณะที่อุปกรณ์หรือดีไวซ์ ติดลบราว 4.7%

“เราเองเชื่อว่าตลาดจะโตมากกว่านี้ และต้องการเข้ามาสร้างความแตกต่างให้ตลาด เพราะตอบโจทย์เรื่องไลฟ์สไตล์ที่ทุกคนเริ่มเดินทางไปทำงานข้างนอกได้ จึงมั่นใจว่าแล็ปทอปของเราจะเติบโตไปพร้อม ๆ กับสินค้าประเภทอื่น ๆ อย่างจอมอนิเตอร์ เรามองว่าตลาดพรีเมี่ยมเซ็กเมนต์ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ”

โดยเซ็กเมนต์นี้มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 17% ของตลาดพีซีโดยรวม หรือมีมูลค่าราว 200 ล้านบาท และเชื่อว่าจะเป็น growth engine ให้แอลจีด้วย และผลักดันพอร์ตสินค้าแอลจีทั้งหมดเติบโตในระดับสองดิจิตได้ ทั้งตั้งเป้าว่าจะมีส่วนแบ่งในตลาดพรีเมี่ยม 2-5%

โฟกัสเทรนด์เซตเตอร์

“จีรภา” กล่าวถึงเหตุผลที่แอลจีไม่ทำโน้ตบุ๊กเกมมิ่ง แม้จะเป็นสินค้าในเซ็กเมนต์พรีเมี่ยมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากต้องการสร้างความแตกต่าง

คอมพิวเตอร์แอลจี

“สินค้ากลุ่มเกมมิ่งในตลาดมีเยอะแล้ว เราอยากทำอะไรที่แตกต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นการดีไซน์หน้าจอ 16 ต่อ 10 หรือฟีเจอร์เอไอต่าง ๆ ที่ใส่เข้าไป เพื่อนำเสนอไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างและตอบโจทย์กับการทำงานในรูปแบบใหม่ที่คนอยากออกไปข้างนอก อยากพกพาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่บ่งบอกตัวตน”

สินค้าอย่าง LG Gram จึงเป็นแล็ปทอปไฮเอนด์ที่เข้ามาแข่งกับแบรนด์เจ้าตลาดจากสหรัฐอเมริกาโดยตรง

“ในไทยเราทดลองตลาดมาสักพักแล้ว ไม่ได้ตอบโจทย์แค่ว่าเป็นสินค้าไอที แต่คือไลฟ์สไตล์ เป็นช่องทางที่แตกต่าง ส่วนในเกาหลีเราทำตลาดแล็ปทอปมานานแล้ว ส่วนใหญ่เป็นอัลตราบุ๊ก (แล็ปทอปที่มีจุดเด่นในเรื่องความบาง และประสิทธิภาพสูง) จึงมองว่าในตลาดนี้เรามีศักยภาพที่จะเข้ามาแข่งขันได้”

ประกอบกับคนไทยเองก็มีความนิยมในวัฒนธรรมพ็อปจากเกาหลี ซึ่งที่เกาหลี LG Gram เข้าสู่ตลาดในฐานะสินค้าไอทีพรีเมี่ยมมาสักพักแล้ว โดยมีวงเกิร์ลกรุ๊ป New Jeans เป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์เพื่อสื่อสารกับคนรุ่นใหม่

“เมื่อพูดถึงตลาดพรีเมี่ยมยังถือเป็นบลูโอเชี่ยน เราไม่อยากลงไปแข่งในเรดโอเชี่ยน และต้องการที่จะเป็นผู้นำในการเซตเทรนด์ใหม่ ๆ อีกส่วนคือคนมักบอกว่าสมัยนี้คนไม่นิยมพกแล็ปทอปกันแล้ว แต่จริง ๆ มันกลับมาเป็นเทรนด์ เพราะแค่มือถือไม่พอใช้ทำงาน”

ปัจจุบันมีความต้องการอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถใช้งานได้ พกพาสะดวก และใช้ทำงานหนัก ๆ ได้ เช่น ทำคอนเทนต์ต่าง ๆหรือต้องการหน้าจอที่ไปได้ทุกที่ แบตเตอรี่ที่ทำงานได้ข้ามวัน และเชื่อมกับอุปกรณ์สมาร์ทไอโอทีต่าง ๆ ของแอลจีได้อย่างดีด้วย

บทเรียนจากการทดลองตลาด

“จีรภา” เล่าว่าแอลจีทดลองนำแล็ปทอปเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อศึกษาตลาด และพบว่าค่อนข้างน่าแปลกใจที่โน้ตบุ๊กหน้าจอ 15 นิ้ว ขายไม่ดีเท่าตัวที่มีหน้าจอขนาดใหญ่ 17 นิ้ว แสดงให้เห็นว่าจอใหญ่เป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ และหายาก โดยเฉพาะที่บางเบาตอบโจทย์การทำงานแบบ on to go

“ปีนี้เราจึงเลือกแบบ 16-17 นิ้วซึ่งจะเห็นว่าจอลักษณะนี้เหมาะกับงานแบบไลฟ์สไตล์ คอนเทนต์ และความบันเทิง ซึ่งเป็นเทรนด์สำคัญของผู้ใช้งานในไทย และเรื่องจอยังเป็นจุดแข็งของแอลจี”

ผู้บริหารแอลจีบอกด้วยว่า ในปีที่ผ่านมาเป็นแค่การศึกษาตลาดจึงไม่ได้วางงบประมาณด้านการตลาดไว้ แต่ก็สามารถทำยอดขายได้ราว 5 พันเครื่อง ขณะที่ในปีนี้แค่สองเดือนแรกก็ทำยอดขายทะลุเป้าแล้ว

“ปีนี้เราวางงบประมาณการตลาดไว้ 30-50 ล้านบาท และจะทำตลาดแบบ 360 องศา ทั้งผ่านสื่อออนไลน์ และ out of home จะมีการโฆษณาในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่เดินทางไปในที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ให้มากยิ่งขึ้น”

เติมเต็มอีโคซิสเต็ม

“เราเข้ามาในส่วนของแล็ปทอปเป็นครั้งแรกเลย เหมือนเป็นแบรนด์น้องใหม่ แต่ก็เชื่อมั่นว่าด้วยยูนีคฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่มีรวมถึงการออกแบบหลายส่วนที่ได้สถิติโลก โดยเฉพาะเรื่องของความเบาและแข็งแกร่ง จึงมั่นใจว่าจะแข่งขันได้”

นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดสินค้าไอทีปัจจุบัน คือการสร้างอีโคซิสเต็ม ซึ่งข้อดีของแบรนด์ แอลจี คือเกิดมาจากการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอโอที จึงมีเทคโนโลยีที่รองรับการเชื่อมต่อสิ่งต่าง ๆ ผ่านอุปกรณ์ และควบคุมได้อย่างรวดเร็ว และเร็ว ๆ นี้อาจเห็นแอลจีกลับมาทำตลาดสมาร์ทโฟนอีกครั้ง