เปิดใจ “พ.อ.นที ศุกลรัตน์” โค้งท้าย กสทช. เผือกร้อนแพ้คดี

สัมภาษณ์

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของบอร์ด “กสทช.” ชุดปัจจุบัน เมื่อ สนช. เตรียมพิจารณารายชื่อบอร์ดชุดใหม่เพื่อมาปฏิบัติหน้าที่แทนชุดเก่าที่หมดวาระไปตั้งแต่ ต.ค. 2560 แล้ว แต่ปรากฏว่ายังมีเรื่องร้อน ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกับคดีเจ๊ติ๋มทีวีพูล ที่ “กสทช.” แพ้ยกแรก

“ประชาชาติธุรกิจ” จับเข่าคุยกับ “พ.อ.นที ศุกลรัตน์” รองประธาน กสทช. โต้โผงานฝั่งบรอดแคสต์

Q : ไม่เห็นด้วยคำตัดสินของศาล

น้อมรับคำพิพากษา แต่จำเป็นต้องอุทธรณ์เพราะขัดกับหลักการใหญ่ของกฎหมายที่จะเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปสู่ใบอนุญาต ซึ่งเราเดินกันมาไกล ทุกคนต่อสู้เรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นหลักสากลของโลกนี้ เป็น fact ที่เป็นนโยบายของชาติที่ต้องดำเนินการ

Q : แต่ผู้ประกอบการไปต่อไม่ไหว

คนที่จะมาใช้ทรัพยากรของรัฐควรให้ลองผิดลองถูกไหม คุณต้องมีความมั่นใจ มีแผนธุรกิจที่ดีมาเข้าประมูล ปัญหาคือ คนไม่คุ้นเคยกับการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ก็คิดว่าการได้รับใบอนุญาต คือผูกขาดได้ แต่จริงๆ คือทำให้ทุกคนเข้าสู่ตลาดได้และเกิดการแข่งขัน แต่ไม่สามารถรับประกันได้ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จ แต่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์

วันนี้ทีวีไทยปรับปรุงจากเดิมตั้งเยอะ มีทั้งข่าว มีสารคดี มีหนังดี ๆ ดู ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศก็ต้องจ่ายเงินดู ทั้งหมดมาจากการแข่งขัน

Q : จุดอ่อนในการเปลี่ยนผ่าน

ผมว่าไม่มีจุดด้อยอะไร ประเทศไทยก้าวไปเร็วกว่าฝรั่งเศสที่มีโมเดลคล้ายกันถึง 4 ปี และพัฒนาเร็วกว่าประเทศอื่นที่ศึกษามา ปัจจุบันช่องใหม่มีส่วนแบ่งตลาดไปแล้วถึง 58%

แต่ผู้ประกอบการทีวีจำเป็นต้องใช้ทุนใหญ่ 3-4 ปีแรกก็จะไม่ได้กำไรซะทีเดียว มีแค่บางช่องที่กำไร

Q : ใช้บิวตี้คอนเทสต์ดีกว่าประมูล

แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะโปร่งใส การประมูลดีสุดสำหรับประเทศไทย

Q : ผลงาน 6 ปีที่ผ่านมา

กิจการด้านบรอดแคสต์เป็นสุญญากาศ 10-15 ปีแล้ว ไม่มีองค์กรกำกับ มีกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่มาก ช่วง 2 ปีแรก คือการจัดระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุที่มีเกือบ 9,000 สถานี ทีวีดาวเทียม 800 ช่อง เคเบิลอีก 500 ช่อง จึงต้องดึงเข้าสู่ระบบ มีกติกา อย่างวิทยุก็นำเข้าสู่การทดลองประกอบกิจการ กำกับทั้งด้านเทคนิคและเนื้อหา ตอนนี้เหลืออยู่ 5,000 สถานี ซึ่ง ITU (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) ประเมินว่าควรลดอีก 3,000 สถานี เพื่อสร้างสมดุล ทีวีดาวเทียมตอนนี้ก็เหลือราว 400 ช่อง เหลือแต่คนที่มีคุณภาพ

Q : ตั้งใจมาจัดระเบียบโดยเฉพาะ

ใช่ เพราะปัญหาวิทยุโทรทัศน์ คือ ปัญหาหนึ่งของประเทศ ช่วง 10-15 ปีที่วุ่นวาย เพราะว่ามีทีวี มีวิทยุ ออกอากาศอะไรก็ได้ สร้างความเกลียดชังได้

Q : กลายเป็นเครื่องมือรัฐคุมสื่อ

ไม่ใช่ แต่ให้ทำธุรกิจได้ตามกติกาของประเทศ และคอนเทนต์ที่เราดูแลหลัก ๆ คืออาหารและยา ที่เป็นอันตราย ส่วนความเหมาะสมของเนื้อหาที่มีคนดูเป็นแสนเป็นล้าน ก็ต้องมีจริยธรรม

Q : แต่เรียกคืนคลื่นไม่สำเร็จ

ก็ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนของทีวีก็เรียกคืนด้วยการเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล ถือว่าสมบูรณ์ใน 6 ปีจากที่ตั้งเป้าไว้ 10 ปี กลาง ก.ค.นี้ จะยุติช่องแอนะล็อกได้ทุกช่อง ยกเว้นช่อง 3 ที่คุยอยู่ แต่วิทยุเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ความทะเยอทะยานที่จะเรียกคืนคลื่นวิทยุทั้งหมดใน 5 ปียากเกินไป ด้วยความซับซ้อนเรื่องความสัมพันธ์และการใช้งานในหน่วยงานของรัฐ

การมีคำสั่ง ม. 44 ออกมาบ่งบอกว่า แผนคลื่นความถี่ที่กำหนดไว้ 5 ปีไม่เหมาะสม

ฉะนั้นทั้งวิทยุและทีวีควรกำหนดไว้เท่ากันที่ 10 ปี และการเปลี่ยนวิทยุสู่ดิจิทัล ยังไม่มีประเทศไหนทำสำเร็จ เพิ่งจะมี 1-2 ปีหลังนี่เองการเรียกคืนคลื่นที่ดีคือการเปลี่ยนภูมิทัศน์ มากกว่าที่จะประกาศให้เอามาคืน

Q : ทีวีดิจิทัลช่องชุมชนจะยังมีไหม

คอนเซ็ปต์เป็นไปได้ แต่อาจจะต้องคิดใหม่ว่า เป็นไปได้หรือที่คนทำดีแล้วจะไม่มีรายได้ ห้ามโฆษณา ต้องรอรับบริจาคอย่างเดียว มองว่าเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องคิดทบทวน

Q : กำกับ OTT ไม่ถึงฝั่งฝัน

กฎหมายมีความพร้อมที่จะกำกับดูแลอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปไม่รอด หากร่วมมือกันก็ทำได้ ผมมองว่าตรงนี้ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุทีวีของไทย แต่เขาเป็นทุนใหญ่มาก จึงต้องช่วยกันคิดต่อ ปล่อยให้ กสทช.ทำคนเดียวไม่ได้ เรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ของชาติ ทำไมเราปล่อยให้คนที่เข้ามาประกอบกิจการในบ้านเราโดยที่ไม่มีการกำกับดูแล ขายของผิดกฎหมายได้

ถ้าเราเริ่มกำกับ ก็จะเริ่มมีความระมัดระวังมากขึ้น คนก็จะทำผิดน้อยลง กฎหมายเรากว้างและดีพอ เว้นแต่ทุกคนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่

Q : แต่ กสทช.เป็นคนหยุดเอง

ผมก็ยังเสียใจอยู่ ว่าทำไมเราหยุดทั้งที่ไม่ควรที่จะไปหยุด และจะส่งผลกับประเทศในระยะยาว ซึ่งมันต้องเริ่มต้นจากให้คุณต้องมาเป็นบุคคลของประเทศนี้ก่อน เพราะตราบใดที่ผมยังไม่เป็นพลเมืองของประเทศนี้ จะทำอย่างไร คุณก็ใช้กฎหมายกับผมไม่ได้ มันย้อนกลับไปสู่ยุคสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเลย

Q : การบ้านฝากบอร์ดใหม่

โลกยุคต่อไปเป็นเรื่องการบริการ มันไม่ใช่เรื่องของโครงข่าย หรือทรัพยากรอีกแล้ว สิ่งที่สำคัญคือเข้าใจคอนเซ็ปต์ของการบริการ คนที่เข้ามาเป็นต้องคิดว่าเซอร์วิสเป็นอย่างไร โครงสร้างของใบอนุญาตถูกต้องแล้วหรือยัง คือสิ่งแรกที่จะนำไปสู่การกำกับดูแลที่ดี

Q : ยังไม่มีเงื่อนไขครองสิทธิ์ข้ามสื่อ

ยังไม่มีผลกระทบ จะซื้อก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่ยังกำกับดูแลได้ ถ้ามีทุนดี ๆ มาซื้อช่องทีวีแล้วมีรายการดี ๆ ผมโอเค แต่ถ้ามีใครซื้อช่องทีวีไปเกือบครึ่ง หรือจนมีมาร์เก็ตแชร์เกือบครึ่ง ก็น่าจะต้องเริ่มทบทวน แต่ยังไม่เห็นแนวโน้มนั้น

Q : งานอะไรได้ดั่งใจ-เจ็บตัวสุด

ได้ดั่งใจสุดคือการจัดระเบียบการกำกับดูแลให้เข้าระบบ ที่ไม่ได้ดั่งใจไม่มี ที่เจ็บตัวก็ไม่มีนะ เป็นธรรมดาที่ต้องมีทั้งคนแฮปปี้และไม่แฮปปี้

ผมมั่นใจว่า ทำหน้าที่กรรมการ กทช. และกสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ได้ดีที่สุด และได้ทำในสิ่งที่ผมต้องการทำแล้วทั้งหมด อย่างน้อยก็ภูมิใจในตัวเอง ได้ทำสิ่งที่เป็นออริจินอลทั้งนั้นใน 8-9 ปีที่ผ่านมา ได้อยู่ในการเตรียมจัดประมูล 3G และการประมูลทีวีดิจิทัลครั้งแรกของประเทศ

Q : วางแผนอนาคต

ยังไม่ได้คิดเลย ถ้าจะสามารถสร้างประโยชน์ที่ไหนได้ ก็จะไปตรงนั้น